โพลเผย 10 เรื่องเอสเอ็มอีต้องทำก่อนอาเซียน แนะให้เลือกประเทศเป้าหมายก่อน อย่าเพิ่งเหวี่ยงแหทุกประเทศ พร้อมลงพื้นที่ศึกษาให้จริงจัง
ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) ร่วมกับนิตยสาร SME Thailand ทำการสำรวจความเห็นของนักธุรกิจญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนที่ทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทย จำนวน 128 ราย ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน 2555 เกี่ยวกับแนวทางการเตรียมตัวของ SMEs ไทย เพื่อให้พร้อมสำหรับการที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนในปี 2558
ทั้งนี้ ในการสำรวจผู้ให้ข้อมูลจะเป็นผู้ประเมินระดับความสำคัญของแนวทางการเตรียมตัวในแต่ละเรื่อง โดยมีคะแนนอยู่ระหว่าง 1-5 คะแนน คะแนนที่ต่ำ หมายความว่าแนวทางนั้นมีความสำคัญน้อย คะแนนที่สูง หมายความว่าแนวทางนั้นมีความสำคัญมาก โดยหัวข้อมีให้เลือกทั้งสิ้น 20 หัวข้อ แล้วนำผลที่ได้มาเรียงลำดับตามระดับคะแนนเฉลี่ยที่ได้จากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด แล้วเลือกเอาแนวทางการเตรียมตัวที่ได้คะแนนสูงที่สุด 10 อันดับแรก เพื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 35 ราย
คำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์คือ “หากท่านเป็นผู้ประกอบการ SME ไทย นอกจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาคุณภาพสินค้า และการสร้างนวัตกรรม ท่านมีแนวทางการเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้พร้อมสำหรับการที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน”
แผนภูมิที่นำเสนอ เป็นผลการจัดอันดับแนวทางการปรับตัว 10 อันดับ โดยมีรายละเอียดคือ อันดับที่ 1 เลือกประเทศในอาเซียนที่จะทำตลาด, อันดับที่ 2 ซื้อสินค้าจากประเทศเป้าหมายมาทดลองใช้, อันดับที่ 3 ทำความเข้าใจกับกฎระเบียบของประเทศเป้าหมาย
อันดับที่ 4 หัดใช้ภาษาอังกฤษในองค์กร, อันดับที่ 5 สร้าง/หาบุคลากรที่สามารถใช้ภาษาของประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายได้, อันดับที่ 6 ดูโทรทัศน์/ภาพยนตร์ของประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย, อันดับที่ 7 เดินทางไปประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย
อันดับที่ 8 ทำความคุ้นเคยกับสื่อในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย, อันดับที่ 9 หัดใช้ cyber marketing และอันดับ 10 ทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมในการทำธุรกิจของประเทศเป้าหมาย
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญต่อผลการเรียนและสถาบันการศึกษาของผู้ที่จะมาทำงานเป็นลูกจ้าง ก็เพราะว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ก่อร่างสร้างตัวมาจากธุรกิจขนาดเล็กที่เจ้าของกิจการเป็นผู้เริ่มต้นลงมือทำเองทั้งหมด จึงเห็นคุณค่าของความสามารถในเชิงปฏิบัติ การคิด และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มากกว่าความรู้ความสามารถจากการเรียนรู้ในห้องเรียน
ทั้งนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ได้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยการระดมทุนเหมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น การจ้างลูกจ้างจึงเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปตามการเติบโตของธุรกิจ ลูกจ้างแต่ละคนที่รับมาต้องมีความสามารถที่รอบด้าน สามารถช่วยเหลืองานได้อย่างเต็มที่ คุ้มกับค่าตอบแทนที่ต้องจ่าย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเอสเอ็มอีมีการจ้างงานไม่น้อยกว่า 10.5 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ แต่การเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างบุคลากรที่มีคุณสมบัติตามที่นายจ้างกลุ่มนี้ต้องการ คือ เก่งคิด เก่งทำ และเก่งทีม มุ่งผลิตแต่ผู้ที่มีความรู้เชิงทฤษฎี ขาดทักษะในการประยุกต์ใช้ ขาดทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น และขาดทัศนคติที่ถูกต้องในการทำงาน