xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์จับมือ “เบเซีย กรุ๊ป” นำสินค้าไทยลุยร้านค้าปลีกญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงพาณิชย์จับเข่า เบเซีย กรุ๊ป ปรับกลยุทธ์การตลาด เตรียมดันสินค้าไทยลุยร้านค้าปลีก เบเซีย กรุ๊ปญี่ปุ่น มีสาขากว่า 1,810 สาขา พร้อมดันอุตสาหกรรมดนตรี บันเทิงไทย ศูนย์กลางบันเทิงแห่งเอเชีย และเตรียมชูวงThailand Philharmonic Orchestra ของมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาสู่อุตสาหกรรมดนตรี

นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2555 เพื่อวางแผนการตลาดสินค้าไทยในร้านค้าปลีกของ “เบเซีย กรุ๊ป” ที่มีกว่า 1,810 สาขา และส่งเสริมธุรกิจบริการในสาขาอุตสาหกรรมดนตรี-บันเทิงของไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก จะผลักดันและพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางความบันเทิงและแหล่งข้อมูลแห่งเอเชีย (Entertainment & Content Hub of Asia) เพื่อส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพ ซึ่งก่อให้เกิดแหล่งผลิต-การร่วมลงทุน การจ้างวงดนตรี นักดนตรีระหว่างประเทศ เป็นการต่อยอดและกระตุ้นให้อุตสาหกรรมดนตรี และบันเทิงไทยมีขยายตัว สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนั้น จะหารือถึงความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการส่งออกกับเดอะ เบเซีย กรุ๊ป (The Beisia Group) เพื่อจัดทำแผนความร่วมมือครั้งที่ 3 ในปี 2556 โดยใช้กลยุทธ์การตลาดในร้านค้าปลีกแบบ Instore Promotion เนื่องจากจะใช้เครื่องมือทางการตลาดขายสินค้าหลายชนิดร่วมกันในร้าน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะดึงดูดลูกค้าให้เกิดความสนใจต้องการใช้สินค้าความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น และสนใจอยากกลับมาซื้อซ้ำที่ร้านเดิม ทั้งนี้ เบเซีย กรุ๊ปดำนินธุรกิจบริหารจัดการให้ร้านค้าปลีกและชอปปิ้งเซ็นเตอร์ มีจำนวน 1,810 ร้านในโตเกียว โอซากา ฮอกไกโด และจังหวัดอื่นๆ ในญี่ปุ่นอีก 36 จังหวัด โดยแบ่งประเภทสินค้าจำหน่ายหลักๆ ได้แก่ อาหาร ของใช้ในบ้าน สำหรับอุตสาหกรรมคอนวีเนียนสโตร์ อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น

ส่วนการนำวงดุริยางค์ฟิลฮาร์โมนิก แห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra) ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลไปจัดแสดง ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง เพื่อเปิดตัวดนตรีไทยในรูปของอุตสาหกรรม ซึ่งในภาพรวมจะครอบคลุมธุรกิจในสาขาต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง ระบบดิจิตอล เกมออนไลน์ แอนิเมชัน ดนตรี และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจรับจ้างการผลิต ก่อน ระหว่าง และหลังกาผลิต สถานที่ถ่ายทำ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการค้า-การลงทุนกับต่างประเทศ

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า ได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการตลาดร่วมกัน เช่น การนำเข้าสินค้าผัก-ผลไม้ไทยรายการใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นได้รู้จักเพิ่มขึ้นในปีหน้า ซึ่งกรมฯ จะให้การสนับสนุนการประชาสัมพันธ์สินค้าผัก-ผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคญี่ปุ่น โดยปีนี้ส้มโอพันธุ์ทองดีเป็นผลไม้ชนิดใหม่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้นำเข้าจากไทย นอกจากนี้ยังได้เชิญชวนให้มาร่วมงานแสดงสินค้าอาหารไทย(THAI FLEX 2555) ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคมนี้ ณ เมืองทองธานี เพื่อชมนวัตกรรมและเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับสินค้าอาหารและธุรกิจบริการอาหารไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่โลก โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการส่งออกทั้งปีให้ขยายตัว 15% ตามเป้าหมาย

สำหรับการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 มีมูลค่า 66,232 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.7% แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 24,070 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 17.9 % และมูลค่าการนำเข้า 42,162 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.4% ไทยขาดดุลการค้า 18,091 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการค้าไตรมาสแรกของปี 2555 (มกราคม-มีนาคม) มีมูลค่า 16,830 ล้านเหรียญสหรัฐ (525,292 ล้านบาท) ขยายตัว 2.5% แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 5,527 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.96% และการนำเข้า 11,303 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.87 % โดยมีเป้าหมายขยายการค้าสองประเทศเป็น 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 (จากมูลค่าการค้ารวมไทย-ญี่ปุ่นในปี 2554)

---------------------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น