xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” อวดสินเชื่อโต 20% กำไรทะลุ 200 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายโสฬส สาครวิศว กก.ผจก.เอสเอ็มอีแบงก์
“เอสเอ็มอีแบงก์” เผยผลการดำเนินงานปี 54 กำไรกว่า 222 ล้านบาท จากผลงานสินเชื่อช่วย SMEs ทุกภาคส่วนธุรกิจ สินเชื่อโตจากปีก่อน 20.05% NPLs ลดลงเหลือเพียง 15.73%

นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของธนาคาร ณ สิ้นปี 2554 ว่า ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อ 39,047.54 ล้านบาท จำนวน 40,655 ราย และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง 97,581.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16,294.54 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.05% และสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) จำนวน 15,347.03 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,162.60 ล้านบาท ทำให้ธนาคารมีสัดส่วน NPLs อยู่ที่ 15.73% ของเงินให้สินเชื่อคงค้าง หรือลดลงจากปีก่อน 20.31%


สำหรับพอร์ตสินเชื่อในปี 2554 มีสัดส่วนสินเชื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐในกลุ่มที่เข้าไปบรรเทาความเดือดร้อน และกลุ่มที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศสูงถึง 61% สูงกว่าปีก่อนอยู่ที่ระดับ 51% ซึ่งสะท้อนบทบาทของเอสเอ็มอีแบงก์ในการเป็นสถาบันการเงินหลักที่ช่วยเหลือและสนับสนุน SMEs ไทยในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม SMEs ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงกลุ่มที่ภาครัฐให้ความสำคัญและเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ

นายโสฬสกล่าวอีกว่า ณ สิ้นปี 2554 ธนาคารมีลูกค้าในพอร์ตจำนวน 70,100 ราย โดยลูกค้า 96% เป็นการปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในวงเงินต่ำกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้าง SMEs ในระบบที่ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กและรายย่อย โดยจำแนกลูกค้าตามพื้นที่ เอสเอ็มอีแบงก์ได้ปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาคในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ 53.64% และ 46.39% ตามลำดับ สะท้อนเอสเอ็มอีแบงก์ได้ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และจากผลการดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้ปี 2554 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 222.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 93.93 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 73.11% และมีสินทรัพย์รวม 115,440.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30.26%

กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์กล่าวอีกว่า นอกจากบทบาทด้านการปล่อยสินเชื่อแล้ว ภารกิจหลักของธนาคารอีกด้านคือการพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งในปี 2554 ธนาคารได้พัฒนาผู้ประกอบการอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรมเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการก่อนยื่นกู้ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน และจัดกิจกรรมเติมเต็มความเข้มแข็งให้ลูกค้า หลังได้รับอนุมัติสินเชื่อเพื่อให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและอยู่รอดอย่างยั่งยืน โดยเน้นภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ พัฒนายกระดับมาตรฐานสินค้า การบริหารจัดการธุรกิจ และการเพิ่มโอกาสทางการตลาด ซึ่งที่ผ่านมาบทบาททางด้านนี้โดดเด่นเป็นอย่างมากและได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบการและสังคมในวงกว้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น