ปัจจุบันกระแสรักสุขภาพกำลังมาแรง ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและไม่ทำลายสุขภาพซึ่งกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณประโยชน์และคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปจึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากที่สุด
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมหลายแห่งหันมาจับมือกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อนำความรู้มาพัฒนานวัตกรรมต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น อย่างเช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ร่วมมือกับ “บริษัทไมท์ตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด” คิดค้น “น้ำปลาเกลือต่ำ” ขึ้น ซึ่งช่วยลดสาเหตุการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไต ในขณะที่ยังได้รสชาติของน้ำปลา พัฒนาโดย น.ส. ณฐมล จินดาพรรณ นักศึกษาปริญญาเอก และ รศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา อาจารย์ที่ปรึกษา ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งได้นำเสนอผลงานวิจัยบางส่วนภายใต้ชื่อเรื่อง “Modeling and Optimization of Electrodialysis Desalination of Fish Sauce by Neural Networks and Genetic Algorithm”
รศ.ดร.สักกมน เปิดเผยว่า น้ำปลาเกลือต่ำที่คิดค้นขึ้นนั้น ได้จากการลดปริมาณเกลือ หรือ โซเดียมคลอไรด์ให้เหลือ โดยใช้กระบวนการแยกสารผ่านเยื่อด้วยไฟฟ้า (Electrodialysis) เพื่อพัฒนาน้ำปลาที่ใช้ในครัวเรือนให้กลายเป็นอาหารสุขภาพ สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงหรือผู้บริโภคทั่วไปที่ต้องการควบคุมโซเดียมในอาหาร เนื่องจากน้ำปลาที่รับประทานกันอยู่ทั่วไปมีปริมาณเกลือสูงมากถึงร้อยละ 20-25
“ถึงแม้เกลือจะช่วยให้สี กลิ่น และรสของน้ำปลาดีขึ้นเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ทว่า การบริโภคเกลือในปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกาย เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคความดันโลหิตสูง และอาจนำไปสู่โรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมองแตกตามมา งานวิจัยนี้ได้นำเทคนิค Neural networks และ Genetic algorithm มาใช้เพื่อช่วยในการหาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการผลิตน้ำปลาเกลือต่ำโดยวิธีการแยกสารผ่านเยื่อด้วยไฟฟ้า ซึ่งพบว่าสามารถผลิตน้ำปลาให้มีเกลือต่ำสุดได้มากถึงร้อยละ 7-13 โดยที่ยังคงรักษาสมบัติทางเคมีและกายภาพของน้ำปลาไว้ได้ใกล้เคียงกับน้ำปลาปกติได้มากที่สุด”
“อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลกระทบของกระบวนการผลิตต่อกลิ่นรสของน้ำปลา พบว่าน้ำปลาที่ประกอบด้วยเกลือร้อยละ 14 เป็นสภาวะที่เหมาะสมที่สุด สามารถลดปริมาณเกลือได้มากและยังคงคุณสมบัติสี กลิ่นและรสของน้ำปลาไว้ได้ดีที่สุด ทำให้ผู้บริโภคยังสามารถได้ลิ้มรสความอร่อยของน้ำปลา และยังคงได้รับคุณค่าทางอาหารจากกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย”
“ที่ผ่านมาผู้บริโภคจำนวนมากบริโภค โดยไม่เคยตระหนักว่าร่างกายได้รับเกลือมากแค่ไหน เป็นเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา แต่น้ำปลาเกลือต่ำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผู้ป่วยที่ต้องควบคุมปริมาณเกลือในอาหารสามารถรับประทานได้”
รศ.ดร.สักกมน กล่าวต่อว่า ตนหวังว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์และหันมาตระหนักถึงการรับประทานอาหารที่มีเกลือสูงกันมากขึ้น เพราะบางคนไม่รู้ว่าโซเดียมหรือเกลือทำให้เกิดโรคไต ความดันโลหิตสูง และโรคอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ถึงแม้แนวคิดการผลิตน้ำปลาเกลือต่ำจะเป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้นักวิจัยเข้าไปช่วยทำวิจัยและพัฒนา แต่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ก็เมื่องานวิจัยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และนำไปต่อยอดในระดับอุตสาหกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ได้จริง
สำหรับการต่อยอดงานวิจัยน้ำปลาเกลือต่ำในระดับอุตสาหกรรมขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรโดยบริษัทไมท์ตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด คาดว่าอีกไม่นานผู้บริโภคน่าจะได้รับประทานน้ำปลาเกลือต่ำเพื่อสุขภาพ ที่เกิดจากการร่วมมือระหว่าง มจธ.กับภาคอุตสาหกรรมจนเกิดผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยในอนาคต
/////////////////////////////////////////////////////
โทร.0-2270-1350-4 ต่อ 109 // 081407-6609/ 086-835-2959