xs
xsm
sm
md
lg

อธิการมหา’ลัย ชี้ งบวิจัยถูกตัดเป็นอันดับต้นๆ กระทบต่อการพัฒนา ปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
อธิการมหา’ลัย ชี้ งบวิจัยถูกตัดเป็นอันดับต้นๆ ทั้งที่ผลงานวิจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ รับการตัดงบวิจัยส่งผลกระทบทำให้ขาดความต่อเนื่อง พร้อมฝากทุกรัฐบาลควรมีการวางนโยบายการศึกษาและการวิจัยที่ชัดเจนและเชื่อมโยงกัน เพื่อที่ใครมาทำงานจะได้สานต่อกันได้
 
ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่งบวิจัยของมหาวิทยาลัยวิจัย ทั้ง 9 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) มหาวิทยาลัยเกษตร (มก.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ถูกตัดเหลือเพียง 833 ล้านบาท ว่า การที่รัฐบาลตัดงบวิจัยออกไปนั้นมีผลกระทบต่องานวิจัยที่ต้องใช้ระยะเวลานานอย่างแน่นอน เพราะงานวิจัยต้องใช้ความต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนงบวิจัยและพัฒนาเทียบกับผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ถือว่าน้อยมาก เฉลี่ยเพียงแค่ 0.2% ของจีดีพี ทั้งที่ควรปรับให้มีสัดส่วน 1% หรือ 2% ของจีดีพี เพราะฉะนั้นหากมีการตัดงบวิจัยในกลุ่มของมหาวิทยาลัยวิจัย 9 แห่งลงไปอีก คงต้องมีการประชุมหารือร่วมกันในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพราะงานวิจัย มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนงบวิจัยของจุฬาฯ คาดว่า ปีงบประมาณ 2555 นี้ น่าจะได้ตรงตามเป้าที่ตั้งไว้ เนื่องจากผลงานวิจัยที่จุฬาฯดำเนินการในปีแรกมีจำนวนมาก และตรงตามเป้าหมายที่สัญญาไว้กับรัฐบาล 
 
“ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่งบวิจัยถูกตัดเป็นอันดับแรก เพราะตัดง่าย แต่ถ้าพิจารณาความจำเป็นของประเทศงบวิจัยควรเป็นงบที่ควรถูกตัดหลังที่สุด อย่างไรก็ตาม อยากฝากรัฐบาลอย่าตัดงบวิจัยลงมากกว่านี้ แต่ก็น่าเห็นใจรัฐบาล เนื่องจากตอนนี้มีเรื่องใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องของอุทกภัยที่เกิดขึ้น แต่ก็อยากให้ตัดงบประมาณส่วนอื่น”อธิการบดี จุฬาฯ กล่าว
 
ด้าน รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า  ถ้ารัฐบาลให้งบกับมหาวิทยาลัยวิจัยตามที่เป็นข่าวจริงและต้องมาเฉลี่ยงบกันจะทำให้แต่ละแห่งเหลืองบเพียง  92 ล้านบาท  จากที่เดิมรัฐบาลเคยตกลงว่าจะให้งบ ม.วิจัย 12,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปี จะทำให้ ม.วิจัย 9 แห่งได้งบปีละ 4000 ล้านบาท  หรือ 444 ล้านบาทต่อมหาวิทยาลัย แต่ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยให้งบตามที่ตกลงและมีแต่จะปรับลดลงเรื่อยๆ

“ผมอยากจะถามว่า การที่รัฐบาลปรับลดงบ ม.วิจัย แสดงว่า จะไม่สนุบสนุนเรื่องนี้ต่อไปอีกแล้วใช่หรือไม่ และจะให้มหาวิทยาลัยเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะทำอย่างไรเพื่อให้แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ที่สำคัญ การตัดงบวิจัยจะทำให้มหาวิทยาลัยทำงานลำบากมากขึ้น ที่ต้องหาเงินรายได้อื่นๆ มาแทน ซึ่งมีไม่มาก  ดังนั้น ผมฝากนักการเมืองทุกพรรคว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะต้องมีการตกลงกันให้ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาและการวิจัยต่างๆ ที่ดีที่ควรจะต้องมีการสานต่อ และทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลใดก็ตาม” รศ.วุฒิชัย กล่าว
 
กำลังโหลดความคิดเห็น