xs
xsm
sm
md
lg

“วรวัจน์” มอบมหา’ลัย รับผิดชอบนิคมอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วรวัจน์” มอบมหา’ลัย รับผิดชอบนิคมอุตสาหกรรม เพื่อศึกษาข้อมูลและทำแผนเสนอรัฐบาล พร้อมมอบจังหวัดที่ไม่เดือดร้อนเป็นพี่เลี้ยงดูแลจังหวัดที่น้ำท่วม

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมแผนปฏิบัติการฉุกเฉินภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ได้มอบหมายให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งเข้าไปช่วยฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม โดยได้มอบหมายให้
   - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบ นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี
   - มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) รับผิดชอบ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ
   - มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) รับผิดชอบ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน
   - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รับผิดชอบ นิคมอุสาหกรรมสหรัตนนคร
   - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) รับผิดชอบ นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า 
     (ไฮเทค)
   - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รับผิดชอบ 
     นิคมอุสาหกรรมนวนคร
   - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) รับผิดชอบนิคมอุสาหกรรมแฟคทอรี่

“ที่มอบหมายให้แต่ละมหาวิทยาลัยรับผิดชอบนิคมอุตสาหกรรมนั้น เพราะต้องการให้เข้าไปศึกษา และทำข้อมูลแนวทางการฟื้นฟูโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ว่ามีจำนวนเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมเครื่องมือ หรือการกำจัดสารเคมีที่ถูกน้ำท่วม จากนั้น ศธ.จะนำเสนอรายงานดังกล่าวให้รัฐบาลเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหา” นายวรวัจน์ กล่าว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ศธ.ยังได้จับคู่จังหวัดที่ไม่ประสบภัยให้มาเป็นพี่เลี้ยงดูแลจังหวัดที่ประสบภัยอย่างครบวงจรด้วย อาทิ จ.ปทุมธานี มอบให้ จ.ชลบุรี ปราจีนบุรี นครนายก และ ระยอง เข้ามาดูแล ส่วน กทม.ได้แบ่งเขตให้แต่ละจังหวัดดูแล ดังนี้ มอบให้ จ.สุรินทร์ ดูแลเขตดอนเมือง จ.บุรีรัมย์ ดูเขตสายไหม จ.ขอนแก่น ดูแลเขตบางเขน ศรีสะเกษ ดูแลเขตหลักสี่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ดูแลเขตคลองสามวา จ.อุดรธานี ดูแลเขตมีนบุรี จ.สระแก้ว ดูแลเขตหนองจอก จ.สระบุรี ดูแลเขตลาดกระบัง จ.ร้อยเอ็ด ดูแลเขตบางพลัด จ.กาฬสินธุ์ ดูแลเขตทวีวัฒนา จ.มหาสารคาม ดูแลเขตตลิ่งชัน จ.ยโสธร ดูแลเขตธนบุรี จ.หนองบัวลำภู ดูแลเขตลาดพร้าว จ.หนองคาย ดูแลเขตวังทองหลอง และ จ.ชัยภูมิ ดูแลเขตคันนายาว โดยสถานศึกษาทุกสังกัดในจังหวัดพี่เลี้ยงจะต้องทำงานประสานกับจังหวัด เพื่อเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเขตที่ตนเองรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาอาหาร การดูแลสุขภาพ รักษาอาการเจ็บป่วยของผู้ประสบภัย รวมถึงช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ประสงค์จะอพยพออกจากพื้นที่ด้วย

ขณะเดียวกัน ศธ.ยังมีแผนต่างๆ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น แผนฟื้นฟูสุขภาพกายและใจ ซึ่งมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รวมกับมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์รับไปดำเนินการ หรือให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาจัดโครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชุน (Fix it center) บริการซ่อมเครื่องไฟฟ้าอุปกรณ์ต่างๆ ให้ประชาชน ส่วนศูนย์พักพิงของ ศธ.ขณะนี้เปิดเพิ่มเป็น 548 แห่ง รองรับคนได้ 188,000 คน มีผู้ประสบภัยเข้าพักแล้ว 23,869 คน ส่วนตัวเลขล่าสุดพบว่ามีโรงเรียนได้รับความเสียหายจำนวน 2,396 โรงเรียน คิดเป็นตัวเลขความเสียหายประมาณ 1,500 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น