xs
xsm
sm
md
lg

ก.พาณิชย์ จับมือ4 บิ๊กธุรกิจไทย ดัน “ผลไม้” เจาะตลาดพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภูมิ สาระผล (ซ้าย) ร่วมเปิดงานแสดงสินค้าไทย “ไทยแลนด์ เทรด เอ็กซิบิชั่น 2555” ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า
ก.พาณิชย์ผนึก 4 บิ๊กเอกชนไทยผลักดัน “ครัวไทยสู่ครัวโลก”ในพม่า ชิมลางนำร่องสินค้า “ผลไม้” ด้านกรมส่งออกฯ พานักธุรกิจไทยกว่า 160 ราย จัดงานแฟร์ในย่างกุ้ง สยายปีกสินค้าไทย

นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทางกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการส่งออก ได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจไทยรายใหญ่ 4 รายประกอบด้วยเครือเจริญโภคภัณฑ์, ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม , การบินไทย และ บางกอกแอร์เวย์ เพื่อขยายการค้า-ลงทุนในพม่า โดยเฉพาะการผลักดัน “ครัวไทยสู่ครัวโลก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้ามาลงทุนในพม่าตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ถือเป็นบริษัทหัวหอกเพื่อผลักดันนโยบายดังกล่าว

ทั้งนี้ เบื้องต้นในการส่งออกอาหารไทยนั้น จะเน้นประเภทผลไม้ เพราะพม่าได้เปิดการนำเข้าผลไม้สดตั้งแต่กลางปี 2554 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การส่งออกผลไม้ไทยไปพม่าเพิ่มขึ้น ซึ่งการเดินทางไปครั้งนี้ ได้ขอช่วยให้ทางการพม่าสนับสนุนการบริโภคและลดอุปสรรคการนำเข้าผลไม้ของไทย เพื่อเพิ่มปริมาณการนำเข้าผลไม้สดจากไทยที่ขณะนี้กำลังทะยอยสู่ตลาดจำนวนมาก เนื่องจากผลไม้ไทยมีจุดเด่นในด้านผลผลิตที่มีความหลากหลาย มีผลผลิตตลอดปี รสชาติเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการช่วยสนับสนุนชาวสวนผลไม้ ในการกระจายสินค้าไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วและผลักดันผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดพม่าเพิ่มขึ้น โดยนอกจากประเทศในอาเซียนแล้ว ในเดือนหน้ากระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะเดินทางไปทำตลาดผลไม้ในจีนและญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

“กลยุทธ์ของไทยในการทำตลาดผัก ผลไม้ ปีนี้จะส่งเสริมการพัฒนาระบบการผลิตให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้มีการสร้างแบรนด์ผลไม้ของไทย โดยเน้นเรื่องเอกลักษณ์ด้านคุณค่าและสายพันธุ์ ที่โดดเด่นของผลไม้ไทย ส่งเสริมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถยืดอายุของผลผลิต และเหมาะสมกับตลาดเพื่อการส่งออก และประสานงานกับหน่วยงานของรัฐควบคุมกำกับดูแลการเพาะปลูกให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด”นายภูมิ กล่าวและว่า ในภาพรวมกรมฯตั้งเป้าหมายการส่งออก ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งปี 2555 คาดว่าจะขยายตัว 15 – 20 %คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,338.86 – 1,397.05 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออก ปี 2554 (ม.ค.-ธ.ค.) มีปริมาณ 1,407,103 ตัน มูลค่า 1,205 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 60.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553

ทั้งนี้จากการหารือกับเอกชนที่ทำธุรกิจในพม่า พบว่ามี 2 ปัจจัยที่เหมาะสมต่อการลงทุน ประการแรก ประชากรพม่ามีประมาณ 60 ล้านคน ถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ ที่สำคัญคือมีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารคล้ายๆ คนไทย และประการที่ 2 คือ พม่าเป็นประเทศเกษตรกรรม พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบสำคัญ การเปิดประเทศของเมียนม่าร์กำลังเป็นโอกาสของนักลงทุนจากไทย ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพราะแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงรอบนี้จะถูกประเมินว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน แต่ก็ยังมีความสุ่มเสี่ยงจากความไม่พร้อมหลายๆ ด้าน

ร.อ.สุวิพันธุ์ ดิษยมลฑล ผอ.สำนักกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวถึงการพานักธุรกิจและผู้บริหารภาครัฐของไทยเดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าไทย “ไทยแลนด์ เทรด เอ็กซิบิชั่น 2555” ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 10 เมษายนที่ผ่านมาว่า มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมแสดงสินค้ารวม 161 ราย โดยมีมูลค่าการซื้อขายภายในงานทันทีไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และคาดว่ามีมูลค่าการซื้อขายตลอดทั้งปีประมาณ 1,100 ล้านบาท นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 2 ในรอบ 6 ปี ที่ทางการพม่าได้อนุญาตให้จัดขึ้น

สินค้าที่นำไปจัดแสดง ประกอบด้วยสินค้าอุปโภค บริโภค อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าเกษตร เครื่องจักร ชิ้นส่วนยานยนต์ เสื้อผ้า อัญมณีและเครื่องประดับ อีกทั้ง สินค้าของขวัญตกแต่งบ้าน และสุขภาพและความงาม เป็นต้น โดยมีผู้ประกอบการพม่าร่วมแสดงสินค้ารวม 14 ราย มีนักธุรกิจสนใจเจรจาการค้าเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันเป็นที่น่าสังเกตว่า มีการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในกรุงย่างกุ้ง เช่นเดียวกับไทย จากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย เป็นต้น แต่สินค้าไทยเป็นที่นิยมมาก เพราะคุณภาพดีและราคาที่เหมาะสม

นอกจากนี้คณะฯยังได้ร่วมสัมมนาความร่วมมือทางธุรกิจบริการโลจิสติกส์ระหว่างไทยและพม่า ในหัวข้อ “โอกาสใหม่ของโลจิสติกส์ไทย-พม่าสู่สากล” และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคธุรกิจโลจิสติกส์ไทยและภาคธุรกิจโลจิสติกส์/ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกสหภาพเมียนมาร์ (Business Matching) โดยมีผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยเข้าร่วมรวมทั้งสิ้น 16 บริษัท โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อขยายตลาดโลจิสติกส์ไทยไปยังตลาดเศรษฐกิจใหม่ในเชิงรุก โดยพม่าถือเป็นหนึ่งในกลุ่มตลาดเศรษฐกิจใหม่ที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจชัดเจน และร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรค ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการโลจิสติกส์ให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับในคุณภาพมาตรฐาน

ร.อ.สุวิพันธุ์ กล่าวว่า จากการเดินทางสำรวจและเยี่ยมชมระบบโลจิสติกส์และการขนส่ง ณ ท่าเรือย่างกุ้ง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศของพม่า มีสัดส่วนสินค้าที่ให้บริการ 90 % ของทั่วประเทศ หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับการพัฒนาท่าเรือในเมียนม่าร์ คือ Myanmar Port Authority แบ่งออกเป็น 3 ส่วน อาทิ การสร้างท่าเรือ และท่าเทียบเรือ ที่ปัจจุบันเมียนม่าร์มีท่าเรือทั้งหมด 9 แห่ง และท่าเทียบเรือรวม 22 แห่ง โดยมีแผนที่จะสร้างเพิ่มเติม จะมีท่าเทียบเรือรวมทั้งสิ้น 62 แห่ง ที่ท่าเรือย่างกุ้งและท่าเรือติละวา จะสามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าได้ 75 ลำและสามารถขนถ่ายสินค้าได้ประมาณ 80-100 ล้านตันต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น