xs
xsm
sm
md
lg

SMEs สิ่งทอผวา 300 บ. คาดต้นทุนพุ่งส่อปิดกิจการเพียบ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.ชี้ค่าแรง 300 บาท กระทบ SMEs สิ่งทอต้นทุนเพิ่ม กระทบปิดกิจการไม่น้อยกว่า 200 ราย ด้านตลาดผู้ค้าส่งสิ่งทอไทย เชื่อ AEC หนุนตลาดโตกว่าเท่าตัว

นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากขึ้นค่าแรง 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ในพื้นที่ 7 จังหวัด ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งกว่า 80% เป็นกลุ่มผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอี ซึ่งจะได้รับผลกระทบขึ้นขั้นต้องปิดกิจการประมาณ 20-30% หรือประมาณ 200 ราย เนื่องจากการขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนผลิตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นประมาณ 8-10% ซึ่งถือเป็นภาระหนักที่ผู้ประกอบการที่มีขีดความสามารถต่ำไม่สามารถรับมือได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสิ่งทอรายใหญ่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะมีการรวมตัวและปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าแรง 300 บาท หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประกอบการสิ่งทอที่เป็นระดับเอสเอ็มอี ซึ่งมีสัดส่วนอยู่มากถึง 80% ของอุตสาหกรรมนี้ ย่อมได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ถ้าไม่มีการปรับตัวโอกาสจะอยู่รอดได้เป็นเรื่องยาก ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเร่งพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นด้านศักยภาพการผลิตด้วยการลดต้นทุน หรือหาทางย้ายฐานการผลิตไปตั้งยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า เป็นต้น

ด้านนายคมสรรค์ วิจิตรวิกรม ที่ปรึกษาศูนย์ส่งออกโบ๊เบ๊ กล่าวว่า การเปิด AEC สำหรับตลาดค้าส่งที่สำคัญของไทยทั้ง 4 ตลาด ได้แก่ โบ๊เบ๊ สำเพ็ง ประตูน้ำ และจตุจักร เชื่อว่าจะเกิดผลดี เพราะที่ผ่านมา มีการส่งออกเสื้อผ้าไทยไปยังกลุ่มตลาดอาเซียนในสัดส่วนมากที่สุด และมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 20% อย่างปีที่ผ่านมา ผู้ค้าประเทศฟิลิปปินส์เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเท่าตัว หากเปิด AEC ประเทศกลุ่มอาเซียนจะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนทางวัฒนธรรมไทยเป็นที่ยอมรับ และนิยมของประเทศกลุ่มอาเซียน จากการติดตามผ่านสื่อละครจากประเทศไทย

"ประเทศกลุ่มอาเซียน ยอมรับในแฟชั่นของคนไทย ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวต่อจากนี้ เพียงแค่ขยันทำการตลาด พยายามให้เขายอมรับในเทรนด์แฟชั่นของบ้านเราให้มากขึ้น การเปิดเสรีการค้าน่าจะไปได้ดี สำหรับตลาดค้าส่งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของไทย" นายคมสรรค์ ระบุ

ด้านนางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวทิ้งท้าย ในส่วนบทบาทหน้าที่ของสถาบันมีโครงการต่างๆ ที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ด้วยการบำรุงรักษาเครื่องจักรแบบทวีผลช่วยผู้ประกอบการโรงงานประหยัดเงินได้มูลค่า 116,962,000 บาท ในส่วนของการเปิดAEC มีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาได้ทำการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย ซึ่งช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้มาก
กำลังโหลดความคิดเห็น