xs
xsm
sm
md
lg

เคาะเบี้ยประกันภัยพิบัติ คุ้มครองเอสเอ็มอีสูงสุด 50 ลบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล
กองทุนภัยพิบัติเคาะค่าเบี้ยประกันครัวเรือนจ่ายแค่ 500 บาทคุ้มครอง 1 แสนบาท จ่ายชดเชยตามระดับน้ำในบ้าน ส่วนเอสเอ็มอีคิดเบี้ยประกัน1% คุ้มครองความเสียหาย 20% วงเงินสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท ขณะที่รายใหญ่จ่ายลดลงจาก 2% เหลือ 1.25% เตรียมเสนอ ครม.6 มีนาคมนี้

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนประกันภัยพิบัติกล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการคิดเบี้ยประกันของผู้ทำประกันแต่ละกลุ่มโดยข้อสรุปในส่วนของประชาชนทั่วไปจะคิดค่าเบี้ยประกันที่ 0.5% ลดลงจากที่คิดไว้เดิม 1% คุ้มครองความเสียหายไม่เกิน 1 แสนบาทหรือเสียค่าเบี้ยประกันเพียง 500 บาทเท่านั้น เพื่อให้ครัวเรือนทั้ง 1.3 ล้านรายที่มีกรมธรรม์อยู่แล้วสามารถทำประกันภัยพิบัติได้อย่างทั่วถึง

สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอี จะคิดค่าเบี้ยประกัน 1% ลดลงจากที่คิดไว้เดิม 1.5% คุ้มครองความเสียหาย 30% ของทุนประกันซึ่งไม่เกิน 50 ล้านบาท โดย หรือจ่ายค่าเบี้ยเพียงแสนละ 1 บาทเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่ คิดค่าเบี้ยประกันเพียง 1.25%ลดลงจากครั้งก่อนที่กำหนด 2% หรือจ่ายค่าเบี้ยเพียงแสนละ 1,250 บาทเท่านั้นและคุ้มครองหลักเกณฑ์เดียวกับรายย่อย แต่ไม่จำกัดวงเงินทุนประกัน โดยไม่จำกัดพื้นที่ใช้อัตราเดียวกันทั่วประเทศ

“หลังจากได้ข้อสรุปเรื่องเบี้ยประกันซึ่งมีการประชุมกันมาหลายครั้งแล้วจะนำเสนอนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลังในเร็วๆ นี้เพื่อให้ทันเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้วันที่ 6 มีนาคมนี้และสัปดาห์ถัดไปน่าจะลงนามในร่างสัญญาหรือเอ็มโอยูกับบริษัทประกันภัยทั้ง 66 รายที่เข้าร่วมโครงการและเปิดขายกรมธรรม์ได้พร้อมๆ กัน”นายพยุงศักดิ์ กล่าว และเสริมต่อว่า

จากการหารือกับบริษัทประกันส่วนใหญ่มีความพร้อมและรับกับอัตราดังกล่าวได้ ส่วนแนวคิดค่าเบี้ยประกันภัยอัตราเดียว ที่ 1.25% นั้นที่ประชุมเห็นว่าอาจเป็นภารกับครัวเรือนและเอสเอ็มอีจึงปรับลดลงในอัตราดังกล่าว

สำหรับคำจำกัดความของภัยพิบัตินั้นจะแตกต่างจากภัยธรรมชาติทั่วไป ตรงที่นอกจากจะเข้าประกาศของกรมป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยแล้วต้องนำเสนอเข้าครม.เห็นชอบหรือเป็นภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินเกินกว่า 5 พันล้านบาท และต้องมีผู้เรียกร้องความเสียหายมากกว่า 2 รายขึ้นไป โดยภัยพิบัติยังครอบคลุมถึงน้ำท่วม ซึ่งจะสามารถเคลมค่าสินไหมได้ 1 ครั้งในรอบระยะเวลา 60 วัน แผ่นดินไหวกำหนดต้องเกิน 7 ริกเตอร์ขึ้นไป ลมพายุเกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ส่วนการจ่ายค่าสินไหมนั้นในส่วนของครัวเรือนกรณีน้ำท่วมจะพิจารณาจากลอยคราบน้ำในบ้าน โดยหากมีน้ำเข้าบ้านได้รับเงินชดเชย 3 หมื่นบาท หากท่วมสูง 50 เซ็นติเมตรได้รับ 5 หมื่นบาท สูง 75 เซนติเมตรได้รับ 7.5 หมื่นบาทและท่วมเกิน 1 เมตรขึ้นไปได้รับ 1 แสนบาท เนื่องจากมีจำนวนมากว่า 1.3 ล้านรายหากต้องใช้บริษัทเข้าไปประเมินเป็นรายๆ กองทุนอาจจะจ่ายเงินให้ได้ล่าช้า ส่วนกรณีของผู้ประกอบการ โรงงาน จะต้องให้บริษัทเอกชนเข้าไปประเมินความเสียหายเป็นรายๆ ไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น