กระเป๋าเนคไท เป็นผลงานสร้างสรรค์ ของ “นางเสาวลักษณ์ โชควิทยา” อาจารย์สอนตัดเย็บเสื้อผ้า ของวิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา สาขาเอี่ยมละออ โดยเป็นการนำเน็คไท ที่เหลือใช้จากคุณพ่อบ้าน มีอยู่จำนวนมาก มาประกอบขึ้นเป็นกระเป๋า โดยที่ยังคงรูปลักษณ์ความเป็นเนคไทให้เห็น และคงความสวยงามตามดีไซน์ของเจ้าของผลงานได้อย่างลงตัว
นางเสาวลักษณ์ เล่าว่า ที่มาของแนวคิดการทำกระเป๋าเนคไท เกิดขึ้นมาจาก การที่สามี รวมถึงคนที่อยู่รอบตัว มีเนคไทที่ไม่ได้ใช้แล้วอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งบางสีบางแบบก็ไม่ได้อยู่ในสมัยนิยม ก็เลิกใช้ไป เป็นที่น่าเสียดายถ้าจะต้องทิ้ง โดยที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อะไรได้เลย และประกอบกับปัจจุบันราคาเนคไท ราคาถูกมากอยู่ที่เส้นละตั้งแต่ 10 บาท ไปจนถึง 35 บาท บางครั้งไปเจอผู้ผลิตที่ต้องการจะโละบางสีบางรุ่นออกจากสต็อก และเราสั่งซื้อจำนวนตั้งแต่ 300 เส้นขึ้นไปสามารถซื้อได้ในราคาเส้นละ 7-8 บาทเท่านั้น
ทั้งนี้ ประกอบกับ อาจารย์เองก็สอนด้านการตัดเย็บอยู่แล้ว จึงเกิดแนวคิดว่า น่าจะทดลองนำเนคไทเหล่านี้ มาตัดเย็บเป็นกระเป๋าแฟชั่นสำหรับผู้หญิง และนำมาสอนให้กับนักเรียน แทนการสอนตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะปัจจุบันการสอนตัดเย็บเสื้อผ้ามีคนเรียนน้อยลงทุกที่ โดยเฉพาะเสื้อผ้าผู้ชายแทบจะไม่มีใครเรียนเลย เพราะส่วนใหญ่คนหันมาซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปสวมใส่ เพราะไม่ต้องรอ และนักเรียนส่วนใหญ่จะสนใจการตัดเย็บกระเป๋าผ้ามากกว่าเพราะขายได้
สำหรับหลักสูตรการตัดเย็บกระเป๋าผ้า ของวิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา คิดค่าเรียนชั่วโมงละ 1 บาท เปิดสอนคอร์สละ 150 ชั่วโมง ที่ผ่านมาได้เปิดสอนลูกศิษย์ไปแล้วกว่า 20 คน ทุกคนสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ รวมถึงอาจารย์ผู้สอนเองก็ยังเปิดร้านจำหน่าย ภายใต้แบรนด์ ZIP&TIE โดยมีหน้าร้านอยู่ที่ด้านในสถานีรถไฟฟ้า สถานีกำแพงเพชร ซึ่งมีลูกค้าชาวต่างชาติต่างให้ความสนใจค่อนข้างมาก เพราะนอกจากจะเป็นกระเป๋าแฟชั่น แล้ว ยังเป็นงานขายนวัตกรรมไอเดียที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร
โดยรูปแบบการตัดเย็บอาจารย์บอกกับเราว่า เนื่องจากต้องการจะขายความเป็นนวัตกรรม บวกกับความเป็นแฟชั่นเข้าไว้ด้วยกัน เพราะเมื่อทำเป็นการค้าแล้ว เราจะไปให้ความสำคัญกับอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย ก็ไม่ได้ ดังนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การตัดเย็บแบบใช้เนคไท ทั้งเส้น โดยไม่มีการตัดต่อ ก็จะได้กระเป๋าที่มีนวัตกรรม แต่ไม่ได้เรื่องของความหลากหลายทางด้านแฟชั่น ดังนั้น ในบางแบบจึงจำเป็นต้องใช้การเย็บแบบใช้การตัดต่อเนคไท และผสมผสานกับการตกแต่งด้วยวัสดุการทำกระเป๋าอื่นๆ เพื่อให้ได้รูปแบบกระเป๋าในแบบที่ทันสมัย ตามแฟชั่น
สำหรับสาเหตุที่เลือกใช้เนคไท นอกเหนือจากการนำของเหลือใช้มาดัดแปลงให้เกิดของใช้ หรือ ราคาเนคไทที่ไม่แพง สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องของคุณสมบัติของเนคไท เป็นผ้าที่มีรูปทรงอยู่ตัว และเนคไททุกชิ้นจะมีซับใน ช่วยให้ได้รูปทรงกระเป๋าที่ทรงรูป ประกอบกับเนคไทจะมีความยืดหยุนของเนื้อผ้า ดังนั้น การตัดเย็บกระเป๋าด้วยเนคไทจึงต้องมีเทคนิค คือ ต้องให้ผ้าขนานไปกับซิป ถ้าไม่ขนานไปกับซิบ กระเป๋าที่ออกมามันจะหย่นไม่ได้รูปทรง ตรงจุดนี้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้ามาเรียนและรู้เทคนิค การตัดเย็บกระเป๋าจากเนคไท ก็ไม่ยากไปกว่าการตัดเย็บกระเป๋าจากผ้าทั่วไป
“ความสนใจอีกอย่างหนึ่งของเน็คไท คือ ผ้าที่นำมาทำเนคไท ลวดลายที่เกิดขึ้นบนผ้าส่วนใหญ่จะไม่ใช่ผ้าพิมพ์ลาย แต่เป็นผ้าทอลายขึ้นมา มีทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าสปัน ลวดลายเนคไทก็มีให้เลือกมากมาย ตามต้องการ เนื่องจากเนคไทเป็นแฟชั่นของผู้ชาย ดังนั้น ผู้ผลิตจำเป็นจะต้องผลิตออกมาตามแฟชั่น และถ้าแบบไหน หรือ สีไหน เริ่มตกรุ่นก็นำออกมาขายในราคาถูก ยิ่งถ้าสั่งซื้อจำนวนมาก ก็จะได้ราคาถูกมาก ซึ่งถ้าทำในเชิงพาณิชย์การรอใช้เนคไท จากของเหลือใช้ของคุณผู้ชายอย่างเดียวก็ไม่ได้ จำเป็นจะต้องซื้อเนคไทใหม่ด้วย เพราะสามารถเลือกสี เลือกลายได้ตามต้องการ และสามารถผลิตจำนวนที่ต้องการได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องวัตถุดิบ”
นางเสาวลักษณ์ เล่าถึงผลสำเร็จของกระเป๋าเนคไท ว่า ที่ผ่านมา ทางวิทยาลัยได้ส่งผลงานกระเป๋าเนคไท เข้าประกวด และได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นรางวัลระดับดี จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หลังจากนั้น ส่งผลงานกระเป๋าเนคไท เข้าประกวดในงาน Seoul International Invention Fair (SIIF) 2011 ที่ประเทศเกาหลี และได้รับรางวัลเหรียญเงิน ด้านคหกรรมมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 26 ประเทศ
“อาจารย์ได้มีโอกาสสอบถามทั้งคณะกรรมการ ที่คัดเลือกเราให้รับรางวัล ที่ผ่านมา หลายคนให้เหตุผลว่า เราเป็นงานไอเดียที่ไม่เหมือนใคร และสามารถมองในเชิงพาณิชย์ได้ เป็นการนำวัสดุที่เหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่มไม่ซ้ำใคร หยิบสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมาทำให้เกิดประโยชน์ และที่เหนือสิ่งอื่นใด สามารถสร้างอาชีพให้กับลูกศิษย์ได้ เป็นสิ่งที่อาจารย์ภาคภูมิใจมากที่สุด และพอรู้ว่าลูกศิษย์สามารถทำตลาดส่งออกได้ และต่างชาติยอมรับในความคิดไอเดีย และฝีมือของเรา ยิ่งภูมิใจมาก”
โทร. 08-6026-4462