“เณรน้อยชวนออม” มาจากความน่ารักของเณร บวกกับความเชื่อในเรื่องของพระพุทธศาสนา ก่อเกิดเป็นงานปั้นเซรามิกออมสิน ในรูปของเณรน้อย ในอริยาบถต่างๆ ชวนให้ผู้พบเห็นอยากจะได้เป็นเจ้าของ หรือ ตั้งโชว์ อีกทั้งยังเป็นกุศโลบายสอนเด็กๆให้รู้จักการออม ผ่านออมสินน่ารักในรูปของเณรน้อย
ผลงานการออกแบบ “เณรน้อยชวนออม” มาจากโรงงานผู้ผลิตเซรามิก จังหวัดลำปาง “LEK CERAMIC” ของ “นางสาว ปติณนันท์ ชมพูชัย” ซึ่งพลิกผันตัวเอง จากผู้ผลิตเซรามิกชามตราไก่ และของใช้บนโต๊ะอาหาร มาทำงานศิลปะ เพราะสามารถทำราคาได้มากกว่า งานเซรามิกทั่วๆไป เป็นที่มาของงานเซรามิกในชุดคอลเลกชั่น ”เณรน้อยชวนออม” ดังกล่าว
นางสาวปติณนันท์ ชมพูชัย เจ้าของ “LEK CERAMIC” เล่าว่า โรงงานเซรามิกของตนเองเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2538 ทำเซรามิก ชุดชามตราไก่ เป็นหลัก เป็นงานหล่อขึ้นรูป แต่ตกแต่งและวาดลายด้วยมือ ทำให้ไม่สามารถทำงานจำนวนมากๆ เหมือนกับโรงงานขนาดใหญ่ ที่ใช้เครื่องจักรได้ และที่ผ่านมา โรงงานเซรามิก ประสบปัญหาในเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น จากค่าแรง และ พลังงานแก๊สหุงต้มที่ใช้ในการเผาเซรามิก เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ไม่สามารถปรับราคาได้ เพราะถ้าปรับราคาขึ้นเมื่อไหร่ ลูกค้าจะไม่ซื้อ
ดังนั้น ทางออกเดียว คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต หันมาผลิตงานที่ออกแนวอาร์ตๆ มากขึ้น เพราะสามารถทำราคาได้ โดยเริ่มปรับมาทำงานออกแนวศิลปะ เมื่อปี 2549 ด้วยการไปอบรมเพิ่มเติมด้านงานออกแบบเซรามิก จากหน่วยงานของภาครัฐ และประกอบกับ ผลงานของ LEK CERAMIC ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นงานแฮนเมด แรงงานจึงปรับตัวได้ไม่ยากกับรูปแบบใหม่ ที่เน้นงานแฮนเมดเป็นสำคัญ โดยเริ่มจากการทำของแต่งบ้าน ทั้ง อินดอร์ และเอาท์ดอร์ รวมถึงผลงานชิ้นเล็ก อย่าง กระปุกออมสิน “เณรน้อย”
“ผลตอบรับออกมาค่อนข้างดี และขายได้ราคามากกว่าชามเซรามิกตราไก่ มีลูกค้าต่างประเทศให้ความสนใจ ได้ส่งออกไปประเทศอิตาลี และเยอรมัน แต่ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของยุโรปที่ผ่านมา ทำให้ยอดการสั่งซื้อชะงักลงไป จึงต้องหันมามุ่งการทำตลาดในประเทศ”
สำหรับ กระปุกออมสิน เริ่มทำตลาดตั้งแต่ เดือนตุลาคมที่ผ่านมา และได้นำมาร่วมออกงานแสดงสินค้า งานโอทอป ซิตี้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ลูกค้าให้การตอบรับดีมาก มีการซื้อไปเป็นของขวัญ ของฝาก ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพราะเป็นของมงคลตามความเชื่อตามพระพุทธศาสนา ให้ความรู้สึกที่ดีแก่ทั้งผู้ให้ และผู้รับ หรือพ่อแม่เองก็ซื้อให้ลูก เพื่อสอนให้ลูกได้รู้จักการออม และเป็นการเริ่มต้นให้ลูกได้สัมผัสใกล้ชิดกับศาสนา เพราะเณร เหมือนเป็นตัวแทนของสิ่งดี ในพระพุทธศาสนา ประกอบกับกระแสของการออมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ กระปุกเณรน้อยจึงเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับลูกค้า นำไปสอนลูกให้รู้จักการออม
โดยสินค้าของโรงงาน 70% เป็นการขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง ที่เหลือ 30% เป็นการขายปลีก ผ่านงานแสดงสินค้าของโอทอป ทั่วประเทศ ซึ่งทางโรงงานจะออกงานแสดงสินค้าเดือนละ 1 ครั้ง เพราะมองว่า เป็นช่องทางที่ดี ช่วยกระจายสินค้าของเราให้ได้ขายไปทั่วประเทศ ในส่วนของตลาดต่างประเทศ เดิมมีการส่งออกสินค้าในกลุ่มของแต่งบ้านไปยังประเทศอิตาลี และเยอรมัน ปัจจุบัน เจอปัญหาเศรษฐกิจยุโรป ทำให้ยอดการส่งออกลดน้อยลงมาก จึงต้องหันมาทำตลาดในประเทศให้มากขึ้น
สำหรับรูปแบบของเณรน้อย จะทำออกมาด้วยกัน 7 คอลเลกชั่น แต่ที่ได้รับความนิยม จะเป็นในกลุ่มของ แพร่เมตตา สมาธิ และเทศนา นอกจากนี้ บางแบบทำชุดอุปกรณ์ตกแต่งเสริม อย่างเช่น หมวก แว่นตา ตาลปัตร ย่าม และกลด ฯลฯ ช่วยทำให้งานออกมาดูดี และขายได้ราคามากขึ้น และอุปกรณ์เสริม ทำให้ลูกค้ามองเห็นและเข้าใจได้ว่างานของเราเป็นงานแฮนด์เมดจริง ดังนั้น ยอมรับได้ในเรื่องของราคา
โดยราคาจำหน่ายปลีก ในคอลเลกชั่น เป็นชุด 3 องค์ ขายในราคาชุดละ 1,200 บาท แต่ถ้าขายเดี่ยว องค์ละ 399 บาท ในส่วนของราคาขายส่งหน้าโรงงานขายองค์ละ 170 บาท ซึ่งลูกค้าที่ซื้อไปสามารถตั้งราคาขายได้ตามต้องการ กลุ่มลูกค้าเป็นผู้ใหญ่อายุ 35 ปีขึ้นไป และกลุ่มเด็กๆ ชอบในความน่ารักของเณร และเคยเห็นในการ์ตูน ส่วนหนึ่งที่ได้ลูกค้าค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อทางพระพุทธศาสนามากกว่า ยอดขายต่อเดือนประมาณ 300,000 บาท
นางสาวปติณนันท์ เล่าว่า เซรามิกของตนเองได้รับการคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์โอทอป ของจังหวัดลำปาง มีสมาชิกมาช่วยกันทำงานประมาณ 30 คน แต่พอเกิดปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น จากการปรับราคาแก๊ส และค่าแรงงาน 300 บาท คงจะต้องมีโรงงานในลำปางบางโรงปิดตัวลง ในส่วนของตัวเอง ต้องลดขนาดของโรงงานและหันไปใช้การแจกจ่ายงานให้กับชุมชนแทน
โทร. 08-3031-5089, www.lekceramic.com