xs
xsm
sm
md
lg

ขิงไทยเปี่ยมคุณภาพ จับดองส่งขายญี่ปุ่น 100 เปอร์เซ็นต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใครจะคิดว่าขิงของเมืองไทย จะมีศักยภาพส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เพียงนำมาแปรรูปด้วยการดอง ของ บริษัท ไทยพัฒนาพืชผล (2525) จำกัด เริ่มจากขอพื้นที่เล็กๆ ในโรงสีของครอบครัว สู่โรงงานผลิตขิงดองมาตรฐานสากล สร้างงานในจังหวัดเชียงรายกว่า 500 คน

กว่า 30 ปี ที่ขิงดองไทยโลดแล่นอยู่ในตลาดส่งออกประเทศญี่ปุ่น 100% ผลงานของผู้ประกอบการไทยที่เติบโตอย่างยั่งยืน กลายเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งจนถึงทุกวันนี้ โดยมีหัวเรือใหญ่อย่าง “นายประวิทย์ พฤกษางกูร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยพัฒนาพืชผล (2525) จำกัด ผู้ริเริ่มธุรกิจดังกล่าว หลังได้มีโอกาสทำงานในตำแหน่งผู้จัดการซูเปอร์มาร์เก็ต ณ นครไทเป ประเทศไต้หวัน จนได้เจอกับเพื่อนชาวไต้หวัน คือ นายเจริญ หลิวพัฒนา ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงชักชวนมาเมืองไทย หวังเห็นโอกาสในการลงทุนธุรกิจได้

จนกระทั่งมาเจอขิงคุณภาพดี ของจังหวัดเชียงรายก็สนใจ แนะนำให้แปรรูปด้วยการดอง และส่งไปประเทศญี่ปุ่น ที่จากเดิมไต้หวันเป็นผู้ส่งออกขิงดองอยู่เดิม แต่ตลาดยังมีความต้องการสินค้าประเภทนี้อยู่ (เมื่อ 30 ปีก่อน) ดังนั้นนายประวิทย์ จึงตัดสินใจลองทำธุรกิจนี้ เริ่มจากอาศัยพื้นที่เล็กๆ ในโรงสีของครอบครัว อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม สร้างเป็นที่ผลิตขิงดอง หวังลดความเสี่ยงในการลงทุนทำธุรกิจนี้

ในช่วงแรกเราใช้ขิงที่ปลูกได้จากจังหวัดชุมพร เชียงราย และเพชรบูรณ์ เนื่องจากมีภูมิอากาศที่เหมาะสมทำให้ขิงแก่ช้า โดยพันธุ์ขิงที่ประเทศญี่ปุ่นชอบคือ พันธุ์หยวก เน้นขิงหัวใหญ่และขิงอ่อน จะได้ราคายิ่งขึ้น ซึ่งคุณภาพขิงที่ญี่ปุ่นต้องการนั้นต้องมีระยะเวลาในการปลูกประมาณ 120 วัน แต่ไม่เก็บเกี่ยวเกิน 150 วัน แต่ปัจจุบันใช้ขิง จากเชียงรายเป็นหลัก ดังนั้นจึงต้องย้ายโรงงานผลิตตามมาด้วย เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง หลังจากผลิตที่จ.นครปฐม มานานกว่า 10 ปี”

สำหรับกระบวนการดองขิง เริ่มจาก การตรวจรับขิงจากโบรคเกอร์, ตรวจสอบก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต, ล้างครั้งที่ 1, ขนย้ายลงบ่อหมัก, เติมส่วนประกอบแล้วดองด้วยเกลือ, ล้างครั้งที่ 2, ตัดแต่ง คัดเกรด, ตรวจสอบ, บรรจุ, จัดเก็บ และทำการขนส่ง โดยลูกค้าหลักคือประเทศญี่ปุ่น 100% ที่นอกจากชาวญี่ปุ่นจะรับประทานเองแล้ว ทางญี่ปุ่นยังส่งออกไปยังตลาดยุโรปอีกด้วย

แม้เจ้าของธุรกิจจะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการผลิตขิงดองมายาวนาน มีลูกค้าประจำเหนียวแน่น โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับลูกค้าต่างประเทศ รวมถึงโรงงานยังตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ ทำให้มีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบ แต่ธุรกิจนี้ก็ยังมีจุดอ่อนอีกหลายประการ เช่น โรงงานยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลใดๆ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าไปบางประเทศ หรือข้อจำกัดทางการค้ากับลูกค้าบางราย ส่วนวัตถุดิบก็เป็นผลผลิตตามฤดูกาล ซึ่งมีระยะเวลาการออกผลผลิตในช่วงสั้นๆ ทำให้ต้องเร่งการดำเนินการผลิตในบางช่วงเวลา และจากการที่เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร คุณภาพสินค้าจึงขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ไม่แน่นอน ทำให้ควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้คงที่ได้ยาก

ดังนั้นภาครัฐฯ จึงเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงคัดเลือกให้เป็นสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ OPOAI ในพื้นที่ จ.เชียงราย หรือโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม โดยเลือกแผนงานบริหารจัดการโลจิสติกส์ และการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล
เมื่อทีมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเข้าไปปรับระบบการผลิต ก็สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้หลายด้าน เช่น เกลือคงคลัง ที่เป็นเกลือทะเล ต้องนำมาจากภาคกลาง ทำให้การขนส่งต้องใช้หลายเที่ยว จึงคิดว่าน่าจะมีวิธีลดต้นทุนดังกล่าวได้ ด้วยการจัดระบบการจัดเก็บสินค้าคงคลังใหม่ เพื่อให้ทราบปริมาณวัตถุดิบที่แท้จริง สุดท้ายช่วยลดค่าขนส่งไปได้ประมาณ 3 ล้านบาท ส่วนปัญหาการจัดวางผังโรงงาน โดยเฉพาะขั้นตอนการขูด/ปอกขิงดอง ก็เข้าไปแก้ไขเช่นกัน หลังพบว่ามีการขนย้ายภายในค่อนข้างมากตั้งแต่การนำขิงดองจากบ่อดองเข้าสู่กระบวนการขูดเปลือก คัดขนาด ตรวจสอบคุณภาพ และบรรจุภัณฑ์ มีการสูญเสียจากกิจกรรมการเดิน เมื่อคำนวณระยะทางเดินรวมที่พนักงานต้องเดินทำงานมีมากกว่า 50 กม./วัน แต่เมื่อปรับผังใหม่ก็ทำให้ได้งานที่มากขึ้นในระยะเวลาเท่าเดิม เป็นต้น

จากการปรับระบบการทำงานใหม่ทำให้บริษัทฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอนาคตนายประวิทย์ จะต่อยอดนำผักในไทยมาทดลองดองเกลือ เช่น แตงกวา และมะเขือม่วง ซึ่งยังเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่น รวมถึงยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย รวมถึงวางแผนส่งต่อธุรกิจนี้แก่ลูกสาว “พลอย พฤกษางกูร” ที่ทำงานเคียงข้างผู้เป็นพ่อพร้อมสานต่อกิจการด้วยหัวใจแห่งการเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่เต็มตัว

***สนใจติดต่อ 0-5366-6123***
กำลังโหลดความคิดเห็น