xs
xsm
sm
md
lg

“ณัฐวลัย เรือใบจำลอง” รวยมงคลคู่เสน่ห์ท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรือสำเภาไม้จำลอง ฝีมือของ ณัฐวลัย โปทา
จากความมุ่งมั่น และพยายามของสาวเมืองเชียงใหม่ อย่าง “ณัฐวลัย โปทา” ฝึกฝนทำเรือไม้จำลองด้วยตัวเอง สร้างจุดขายด้วยการเชื่อมโยงเป็นวัตถุเสริมมงคลเหมาะแก่คนค้าขาย และนำวัสดุในท้องถิ่นมาเพิ่มค่า ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ตอบตลาดได้อย่างดี กลายเป็นอาชีพหลักที่สร้างทั้งเงิน และงานให้แก่สมาชิกครอบครัว

เธอ เล่าว่า เริ่มต้นอาชีพนี้ตั้งแต่ พ.ศ.2535 จากที่ไม่เคยมีพื้นฐานเกี่ยวกับงานไม้ งานศิลปะหรืองานประดิษฐ์ใดๆ เลย อาศัยชื่นชอบความสวยงามของเรือไม้จำลอง จึงซื้อเรือไม้จำลองที่วางขายตามท้องตลาดมาถอดรื้อทีละชิ้น ทีละส่วน แล้วทดลองทำตาม อีกทั้ง ศึกษาจากหนังสือ และสอบถามผู้เชี่ยวชาญ ค่อยๆ ลองผิดลองถูกเกือบ 2 ปีกว่าจะได้ผลงานลงตัว

“หลังจากที่ดิฉันทดลองจนคิดว่า พอใช้ได้แล้ว ก็เริ่มไปวางขายที่แหล่งท่องเที่ยว หรือย่านชอปปิ้งในเชียงใหม่ ซึ่งลูกค้าให้ความสนใจ และแนะนำทั้งด้านรูปทรง รายละเอียด ควรสมจริงมากยิ่งขึ้น รวมถึง แนะนำให้นำด้านเสริมมงคลมาประกอบด้วย ซึ่งเราก็นำมาปรับปรุงเสมอ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น รวมถึง มีผู้สนใจสั่งออเดอร์ไปขายต่อมากขึ้นตามลำดับ” ณัฐวลัย เล่า

จากเริ่มแรกคิดเองทำเองแทบทั้งหมด เมื่อมีออเดอร์เพิ่มขึ้น สาวนักประดิษฐ์กลับมาฝึกวิธีทำเรือไม้จำลองให้แก่สมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว จนปัจจุบัน กลายเป็นอาชีพหลักของครอบครัว โดยมีแรงงานรวมกัน 5 คน ทำลักษณะหัตถกรรมในครัวเรือน แบ่งงานกันตามหน้าที่และความถนัด โดยเฉลี่ยจะทำได้ประมาณ 70-80 ลำต่อเดือน

ณัฐวลัย เผยด้วยว่า เคยทำเรือจำลองมาแทบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรือโบราณ เรือตะวันตก เรือรบ ฯลฯ แต่สุดท้าย เหลือเจาะจงทำเฉพาะ “เรือสำเภาจีน” เท่านั้น เนื่องจากตลาดให้การตอบรับมากที่สุด เพราะต้องการซื้อไปเสริมฮวงจุ้ยด้านค้าขาย หรือเป็นของขวัญสำหรับมอบในโอกาสขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

พร้อมกันนี้ ได้ตอกย้ำจุดเด่นด้านเสริมมงคล ด้วยการทำช่องสำหรับไว้หยอดหรือเก็บเหรียญ ตามความเชื่อว่าจะช่วยให้ค้าขายคล่องตัวและมีเงินเหลือกินเหลือเก็บ รวมถึง ในส่วนของเชือกที่ใช้ประดับเรือไม้ ได้ปรับมาใช้เป็นเส้นด้ายสีทอง ซึ่งเป็นสีแห่งมงคลด้วย

อีกจุดขายที่ผู้ประดิษฐ์เรือไม้จำลองรายนี้ได้สร้างสรรค์ขึ้น คือ หยิบวัตถุดิบใกล้ตัวในท้องถิ่น อย่าง “ผ้าเปลือกไหม” และ “ผ้าฝ้ายพื้นเมือง” มาประยุทธ์ทำเป็นใบเรือ สร้างเอกลักษณ์บ่งบอกถึงความเป็นสินค้าท้องถิ่น และยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วย

“เมื่อก่อน เราจะใช้ผ้าดิบทำเป็นใบเรือ จนเกิดไอเดีย ลองเอาผ้าเปลือกไหม และผ้าฝ้ายที่เป็นอีกสินค้าพื้นเมืองขึ้นชื่อของเชียงใหม่ เพื่อให้ลูกค้านักท่องเที่ยวที่ซื้อกลับไปเป็นของฝาก เกิดความรู้สึกว่าจะได้ซื้อสินค้าจากท้องถิ่นจริงๆ ซึ่งข้อดีของผ้าพื้นเมือง คือ ทอสวยงาม และสีหลากหลาย ช่วยให้เรือไม้ดูมีคุณค่า ขายได้ราคาสูงขึ้น” ณัฐวลัย อธิบายเสริม

เรือไม้จำลองมีให้เลือกถึง 5 ขนาด ตั้งแต่ลำเล็ก ขนาดยาว 20 เซนติเมตร ถึงลำใหญ่ ขนาดยาว 2 เมตร ราคาขายลำละ 250-9,500 บาท วัตถุดิบหลักที่ใช้เป็นไม้สักแท้ ขั้นตอนการประดิษฐ์ใกล้เคียงกับการทำเรือจริง ทั้งการขึ้นโครงกระดูกงู และขึ้นใบเรือ เป็นต้น ในส่วนช่องทางตลาดจะมีผู้ค้าส่งหลายรายมารับซื้อถึงบ้าน เพื่อนำไปขายต่อตามแหล่งสินค้าที่ระลึกใน จ.เชียงใหม่ และใกล้เคียง

เธอ ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญที่สุด คือ อ่อนด้อยด้านการทำตลาด ถนัดเฉพาะผลิต ดังนั้น จึงไม่เคยมีแบรนด์ของตัวเอง ไม่เคยทำบรรจุภัณฑ์ หรือทำตลาดใดๆ มากนัก ช่องทางขายจำเป็นต้องพึงตัวแทนขายเข้ามาซื้อถึงแหล่งผลิต ทำให้ตลาดไม่กว้างเท่าที่ควร และบางครั้งถูกกดราคาสินค้า

อย่างไรก็ตาม จากที่ได้เป็นลูกค้าของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ซึ่งทางธนาคารฯ ได้เห็นจุดอ่อนดังกล่าว นอกจากสนับสนุนด้านเงินทุนแล้ว ยังส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งทำแบรนด์ให้ ในชื่อ “ณัฐวลัย เรือใบจำลอง” พร้อมออกแบบโลโก้ใหม่ให้ด้วย นอกจากนั้น ช่วยทำเว็บไซต์ และพาไปออกบูทตามงานแฟร์ต่างๆ ซึ่งเชื่อว่า จะขยายหาตลาดใหม่ ทำให้อาชีพมีความแข็งแรง และยั่งยืนมากกว่าอดีตที่ผ่านมา

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

โทร.08-1992-0164
ณัฐวลัย โปทา

ใบเรือ นำผ้าเปลือกไหมมาใช้เป็นวัสดุ
ทำช่องไว้หยอดเหรียญ เพื่อเสริมมงคล
ทำโดยแรงงานในครอบครัว
โลโก้แบรนด์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก เอสเอ็มอีแบงก์

กำลังโหลดความคิดเห็น