xs
xsm
sm
md
lg

อัศจรรย์ไม้แกะสลัก ตำนานมีชีวิตแห่งล้านนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพไม้แกะสลัก 3 มิติ
จากเศษซากไม้ถูกนำมาแกะสลักทีละเล็กทีละน้อย รังสรรค์เป็นศิลปะไม้แกะสลัก 3 มิติแสนล้ำค่าสุดอัศจรรย์ ด้วยสองมือของศิลปินเอกแดนล้านนาที่สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กลายเป็นอาชีพที่มั่นคง โดยผลงานที่ออกมาแสดงถึงชั้นเชิงความสามารถอันเป็นที่ยอมรับระดับประเทศ
ศรีลัย เตชรังษ์  ประธานกลุ่ม
ศรีลัย เตชรังษ์ ในฐานะประธานกลุ่มหัตถกรรมศรีลัยไม้แกะสลัก บ้านกิ่วแลน้อย อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ท้องถิ่นบ้านเกิดยึดอาชีพทำไม้แกะสลักมายาวนาน สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น โดยส่วนใหญ่แทบทุกบ้านจะทำสินค้าที่ระลึกโดยเฉพาะช้างไม้แกะสลัก เอกลักษณ์ประจำจังหวัดขายแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
งานไม้แกะสลักสุดอลังการ

แต่สำหรับกลุ่มโดดเด่นด้วยงานไม้แกะสลักแนว 3 มิติ ซึ่งจะเป็นลวดลายสลับซับซ้อน จากฝีมือของศิลปินล้านนาอย่าง “เจน นวลสุภา” ที่เริ่มต้นฝึกฝนเองตั้งแต่เยาว์ และยึดอาชีพช่างไม้แกะสลักมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปี โดยเป็นช่างคนแรกที่ลงมือแกะสลักไม้ที่ปราสาทสัจธรรม เมืองพัทยา โดยทำงานอยู่ที่นั่นนานกว่า 7 ปี ก่อนจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิด
เจน นวลสุภา ศิลปินเจ้าของผลงาน
ร่างแบบด้วยมือ
ศรีลัย เผยว่า ส่วนตัวรับผิดชอบด้านการตลาดและการบริหารให้แก่กลุ่ม ปัจจุบัน มีสมาชิกอยู่ 11 คน ผลิตงานไม้แกะสลักแบบต่างๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน ป้ายไม้ ของที่ระลึกต่างๆ ฯลฯ ราคาเริ่มต้นที่หลักร้อย แต่สำหรับงานแกะสลัก 3 มิติชิ้นใหญ่ ถือเป็นสินค้าเอกประจำของกลุ่ม มีเพียงลุงเจนคนเดียวเท่านั้นที่ทำได้

“ลูกค้าหลักจะเป็นผู้นิยมการตกแต่งบ้าน และนิยมงานไม้ รวมถึง โรงแรม รีสอร์ต และบริษัทต่างๆ สั่งสินค้าไปตกแต่งสถานที่ โดยสำหรับงานไม้แกะสลัก 3 มิติ จะมีออเดอร์จองล่วงหน้าเป็นปี แต่เนื่องจากงานดังกล่าวมีความละเอียดสูงมาก คนที่จะทำได้ต้องทั้งใจรักจริงๆ รวมถึง มีพรสวรรค์ด้วย ปัจจุบันนอกจากลุงเจนแล้ว ช่างคนอื่นไม่สามารถทำได้” ประธานกลุ่มเผย

ด้านศิลปินเอกล้านนา เสริมว่า การออกแบบไม้แกะสลัก 3 มิติจะมาความประทับใจในภาพวาดฝาผนังตามวัดต่างๆ ที่ได้ไปพบเจอ เสริมด้วยจินตนาการส่วนตัว โดยมากจะเน้นเกี่ยวกับพุทธศาสนา ลายไทย และวรรณคดี โดยเฉพาะรามเกียรติ์ แต่ละชิ้นใช้เวลาทำค่อนข้างนาน ชิ้นใหญ่ที่สุดที่เคยทำใช้เวลานับปี มูลค่ากว่า 6 แสนบาท
แบบที่ร่างไว้เตรียมแกะสลัก
สำหรับขั้นตอนการทำเริ่มจากแต่งไม้ให้ได้รูปทรง และพื้นผิวตามต้องการ จากนั้น ใช้ดินสอวาดแบบลงบนแผ่นไม้ ต่อมาค่อยๆ แกะสลักตามแบบที่ร่างไว้ ซึ่งการแกะจะมีทั้งแบบใช้ไม้แผ่นเดียวเลย กับแบบที่แกะไม้ทีละชิ้น สุดท้ายจึงนำมาประกอบด้วยกาวให้กลายเป็นภาพเดียวกัน มีจุดเด่นที่ความสวยงาม ประณีต และความสลับซับซ้อนของไม้แกะสลักนับพันชิ้นที่มาอยู่ร่วมกันได้อย่างน่าอัศจรรย์
ไม้ที่แกะสลักโครงสร้างไว้ รอให้ลุงเจนมาแกะส่วนรายละเอียด
ช่างลูกมือ แกะขั้นตอนแรก
ย้อนกลับมาที่ประธานกลุ่ม เผยว่า ที่ผ่านมา พยายามแก้ปัญหาการผลิต โดยดึงเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากเข้ามาฝึกฝนการแกะสลักไม้ภาพ 3 มิติจากลุงเจน แต่สุดท้ายไม่มีใครสามารถทำได้เท่าเทียม ดังนั้น วิธีที่ใช้ในปัจจุบัน จะให้ช่างลูกมือแกะสลักโครงสร้าง และส่วนที่ไม่ยากเตรียมไว้ โดยลุงเจนจะมาแกะส่วนรายละเอียดขั้นสุดท้าย เฉลี่ยการผลิต หากเป็นงานชิ้นขนาดกลาง ทำได้ประมาณ 60 ชิ้นต่อปี ส่วนงานชิ้นใหญ่ประมาณ 1-2 ชิ้นต่อปี ราคาต่อชิ้นอยู่ที่หลักหมื่นถึงแสนบาท
งานช้างไม้แกะสลักของกลุ่ม
สำหรับวัตถุดิบเจาะจงเป็นไม้สักเท่านั้น เนื่องจากมีความสวยงาม แข็งแรง ทนทาน เนื้อไม้เหมาะแก่การแกะสลัก รวมถึง มีความหมายเป็นมงคล โดยจะมีชาวบ้านในท้องถิ่นและใกล้เคียงนำไม้มาเสนอขายถึงบ้าน รวมถึง หาซื้อได้จากองค์กรอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ในราคาประมาณ 2,000-5,000 บาทต่อปริมาณไม้ที่บรรทุกหลังรถกระบะหนึ่งคัน

ศรีลัย ตบท้ายว่า ใน จ.เชียงใหม่มีกลุ่มชุมชนผู้ผลิตงานไม้แกะสลักจำนวนมาก ส่วนใหญ่รูปแบบจะใกล้เคียงกันหมดทำให้เกิดการแข่งขันสูง แต่สำหรับกลุ่มไม่มีปัญหาด้านการตลาดเลย เนื่องจากสินค้าแตกต่าง มีลูกค้าขาประจำเฉพาะกลุ่มแน่นอน ทำให้มีออเดอร์รอต่อคิวยาวจนทำไม่ทัน อย่างไรก็ตาม กังวลว่า ภูมิปัญญาไม้แกะสลัก 3 มิติจะขาดผู้สืบสาน เพราะปัจจุบัน เหลือช่างฝีมือที่แกะงานลักษณะนี้ได้น้อยมาก ในอนาคตเกรงจะไม่เหลืองานแกะสลักล้ำค่าให้คนรุ่นหลังได้พบเห็น

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

โทร.08-9950-7062
กำลังโหลดความคิดเห็น