xs
xsm
sm
md
lg

สอ.เชื่อนโยบายพัฒนา SMEs เดินถูกทาง ยกระดับผู้ส่งออกสร้างแบรนด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมส่งออกเผยนโยบายเอสเอ็มอีไทยเดินมาถูกทาง ชี้แผนหนุนเอสเอ็มอีของเมืองเบียร์ 237 หน่วยอัดฉีดกว่า 2 หมื่นล้านยูโร ดัน 5 กลุ่มพิเศษสร้างธุรกิจเข้มแข็ง ชวนสัมผัสสิทธิประโยชน์ AEC

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยถึงรายการการศึกษาตลาดของ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันถึงแนวนโยบายการสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในเยอรมันให้ดำเนินธุรกิจว่า เป็นแนวนโยบายเดียวกับไทยที่ต้องผสมผสานทั้งด้านงบประมาณ สภาพภูมิศาสตร์ พื้นฐานทรัพยากรและอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้ระยะเวลาบ่มเพาะธุรกิจนาน 3 - 10 ปี โดยเริ่มจากความสนใจพื้นฐาน ฝึกฝน อบรม พัฒนาจนเป็นผู้ประกอบการระดับเล็กๆ ขยายกิจการ และยกระดับเป็นผู้ส่งออกมีการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง

“ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานภาครัฐในไทยที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อขอความสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและกิจกรรมด้านต่างๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์ ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออกก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน เพื่อจะได้ก้าวไปพร้อมๆ กับผู้ประกอบการรายอื่น รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายเกื้อกูลกัน หากไม่มั่นใจตลาดกลุ่มประชาคมอาเซียน(AEC) มีข้อมูลและกิจกรรมหลากหลายให้เข้าไปสัมผัส เพื่อให้เอสเอ็มได้เข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ส่งผลถึงการลดต้นทุนการผลิต และสร้างความเข้มแข็งทางการตลาดยิ่งขึ้น” นางนันทวัลย์ กล่าว

ด้านนางสาวเชฐณี โอภาสวัตชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน กล่าวว่า สหภาพยุโรป (อียู) มีกิจการเอสเอ็มอีทั้งสิ้นกว่า 23 ล้านกิจการ เฉพาะเยอรมนีผู้ประกอบการมีจำนวนกว่า 3,636,000 ล้านกิจการนั้น เป็นเอสเอ็มอี 3,623,000 ล้านกิจการ หรือคิดเป็นสัดส่วน 99.5 % โดยเอสเอ็มอีมีส่วนแบ่งของยอดขาย 36.9 % คิดเป็นมูลค่า 5.36 ล้านล้านยูโร มีจำนวนคนงานกว่า 15 ล้านคนหรือ 55% ของคนงานทั่วประเทศเป็นกิจการที่จัดอยู่ในประเภทเอสเอ็มอี โดยแบ่งลักษณะกิจการเอสเอ็มอีเป็น 3 ขนาด คือ กลุ่ม, เล็กและกลาง แต่จะมียอดขายต่อปีไม่เกิน 50 ล้านยูโร ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมารวมงบในการพัฒนาเอสเอ็มอีในด้านต่างๆ เป็นมูลค่ารวมกว่า 21,600 ล้านยูโร

“นโยบายสร้างเอสเอ็มอีเข้มแข็ง เพื่อการส่งเสริมเริ่มตั้งแต่การก่อตั้งบริษัทใหม่ หรือธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แล้ว รวมทั้งการปรับปรุงช่องทางการใช้ประโยชน์และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การส่งเสริมช่องทางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม การวางระบบการฝึกอบรม การปรับลดแนวทางกฎ ระเบียบในเชิงราชการ ที่ซับซ้อน มีขั้นตอนน้อยลง การส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรม และค่านิยมในการประกอบธุรกิจของตนเอง การถนอมทรัพยากร อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน ลดปัญหาภาวะโลกร้อน ก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนเศรษฐกิจแบบยั่งยืน”
นางสาวเชฐณี กล่าว

ทั้งนี้มีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกว่า 237 สถาบัน แนวโน้มใหม่ที่เยอรมนีจะเข้าผลักดันใน 5 กลุ่มเป็นพิเศษ ได้แก่ 1.ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 2.การส่งเสริมให้มีสถานที่ฝึกงานและฝึกอบรมวิชาชีพเพิ่มเติมมากขึ้น 3. การสนับสนุนโครงการที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เทคโนโลยี 4. การสนับสนุนให้เอสเอ็มอีไปประกอบธุรกิจ ลงทุนในต่างประเทศ และ5.การปรับปรุงกรอบเงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้รัฐบาลเยอรมันยังมุ่งให้ประชาชนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษาหรือแม้แต่กระทั่งคนไม่มีงานทำ มีความกระตือรือร้นที่จะหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนา มีการก่อตั้งกิจการเป็นของตนเองมากขึ้น โดยให้สมาคม สถาบันการเงิน การศึกษา เข้ามาร่วมมือมีบทบาทอย่างแข็งขัน ซึ่งการดำเนินนโยบายนี้นับเป็นตัวอย่างที่ดี น่าจะนำมาปรับใช้กับการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาเอสเอ็มอีของไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มฐานรากสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจของชาติแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น