xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ขนเอสเอ็มอีเกษตร ลุยจับคู่ธุรกิจอินโดนีเซีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว.เผย นักการตลาดชาวอินโดนีเซีย ชี้คนอินโดนิยมซื้อสินค้าอาหาร เป็นของฝากและกินเอง ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สูงถึง 50% ด้านผู้ประกอบการไทยนำทีมโดย สสว.ไม่พลาดลงพื้นที่จัดกิจกรรมสัมมนาพร้อมจับคู่ธุรกิจ สินค้าเกษตรดาวรุ่ง จับคู่ธุรกิจไทย 13 รายอินโด 30 ราย

Mr. Hermawan Kartajaya นักการตลาดที่มีชื่อเสียงชาวอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ชาวอินโดนีเซียนิยมซื้อสินค้าอาหาร ทั้งซื้อเพื่อรับประทานเองและซื้อเป็นของฝากให้แก่กัน จนส่งผลให้ชาวอินโดนีเซียมีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเฉลี่ยต่อเดือนสูงถึงราวร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด และจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารหลายชนิด

ทั้งนี้ ราคาของสินค้าจำเป็นต้องแข่งขันได้ เมื่อเทียบกับผู้ผลิตในประเทศ และประเทศผู้นำเข้าอื่น อาทิ เวียดนาม และมาเลเซีย เนื่องจากประชากรโดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 มีรายได้ไม่สูงมากนัก จึงมีความอ่อนไหวในเรื่องของราคาเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ดี สินค้าการเกษตรและอาหารที่มีราคาแพงของไทย อาทิ ทุเรียน ก็มีศักยภาพเข้าไปเจาะตลาดอินโดนีเซียได้เช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีรายได้ค่อนข้างสูง-สูงมากที่แม้จะมีเพียงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ แต่คิดเป็นจำนวนมากถึง 20-30 ล้านคนทีเดียว

ความสำคัญของตลาดอาหารของประเทศอินโดนีเซียนี้เอง ทำให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ได้เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาการตลาดเรื่อง Marketing in AEC as one single market ณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมกับได้นำผู้ประกอบการด้านอาหารของไทยร่วมงานครั้งนี้

นอกจากกิจกรรมสัมมนาการตลาดแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีที่มีกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทย 13 ราย และผู้ประกอบการอินโดนีเซีย 30 ราย ซึ่งสินค้าที่ได้รับความสนใจอย่างมากเป็นกลุ่มอาหารและวัตถุดิบประกอบอาหาร อาทิ กะหล่ำปลี ซึ่งเป็นพืชผลล้นตลาดในประเทศไทยในขณะนี้ ราคาตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 80 สต. - 1 บาทเท่านั้น (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2554) ในขณะที่อินโดนีเซีย ราคากะหล่ำปลีสูงถึงกิโลกรัมละกว่า 100 บาท

นอกจากนี้ พริกและหอมแดง ก็เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากพริกที่อินโดนีเซียมีราคาสูงกว่ากิโลกรัมละ 200 บาท และจากการที่ชาวอินโดนีเซียนิยมบริโภคหอมแดงเจียว โดยใช้เป็นส่วนประกอบหรือเป็นเครื่องปรุงรสในอาหารแทบทุกชนิดนั้น ส่งผลให้ผลผลิตหอมแดงในอินโดนีเซียราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท และไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

และจากการสอบถามผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานพบว่า มีผู้ประกอบการอินโดนีเซียติดต่อขอให้เสนอราคาพริกและหอมแดง โดยประมาณการสั่งซื้อเบื้องต้นที่ 344 ตัน/สัปดาห์ แบ่งเป็น พริก 204 ตัน หอมแดง 140 ตัน ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีในการส่งออกสินค้าการเกษตรไทยลุยอินโดนีเซียได้

“อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยไปอินโดนีเซียจะยังไม่สูงนัก อีกทั้งอินโดนีเซียและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเช่นเดียวกับไทย รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในการส่งออก ทั้งเรื่องของผลผลิตที่ลดลงจากภัยธรรมชาติในประเทศ การกำหนดมาตรฐานราคาสินค้า เพราะขึ้นอยู่กับความต้องการและปริมาณผลผลิตของโลก แต่จากปัจจัยต่าง ๆ และแนวโน้มส่งออกแล้ว คาดว่า พระเอกตัวจริงในภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้คงหนีไม่พ้น "สินค้าเกษตรและอาหาร" อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น