xs
xsm
sm
md
lg

“ไทเกอร์” มุ้งนาโนกันยุง สบช่องส่งออกประเทศที่ 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภไช แพร่พีรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก เบดเน็ท อาร์แอนด์ดี มาร์เก็ตติ้ง จำกัด
การนำนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจ นับว่ากลยุทธ์ด้านการบริหารธุรกิจอย่างหนึ่งให้อยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขัน และหากหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนด้วยแล้วความสำเร็จจะเร็วขึ้น ด้วยการได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการ และเงินทุน เช่นเดียวกับบริษัท บางกอก เบดเน็ท อาร์แอนด์ดี มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตมุ้งนาโน ผลงานวิจัยจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ช่วยเพิ่มรายได้บริษัทเอกชน
บรรจุภัณฑ์มุ้งนาโนกันยุง
นายศุภไช แพร่พีรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก เบดเน็ท อาร์แอนด์ดี มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตมุ้งนาโนกันยุงภายใต้แบรนด์ “ไทเกอร์” เล่าว่า ธุรกิจนี้เกิดมาจากการมองเห็นช่องว่างทางการตลาด ถึงความต้องการมุ้งเพื่อป้องกันยุงที่เป็นพาหะของโรคต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ทวีปแอฟริกา ทำให้ในแต่ละปีองค์กรต่างๆ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ยูนิเซฟ องค์การสหประชาชาติ และองค์กรเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาลาเรียระดับโลก ต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อมุ้งเพื่อป้องกันโรคมาลาเรียให้กับประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสที่จะทำตลาดได้ ด้วยศักยภาพการผลิตและวัตถุดิบในประเทศไทย แต่หากผลิตมุ้งธรรมดาทั่วไปก็ยังไม่สามารถป้องกันยุงได้ 100% อาจมีการเล็ดลอดเข้ามาได้ ทำให้บริษัทฯ เกิดไอเดียหาสารจากธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยอาศัยกลิ่นเพื่อการไล่ยุง จึงขอรับคำแนะนำจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อร่วมกันคิดค้นสารจากธรรมชาติดังกล่าว สุดท้ายมาลงตัวที่มุ้งนาโน ที่เป็นการพัฒนาต่อยอดโดยอาศัยเทคโนโลยีการผสมแบบมาสเตอร์แบทช์ (masterbatch) คือการผสมสารกำจัดยุง (insecticide) และสารป้องกันการติดไฟ (flame retardant) มาทำให้เป็นขนาดเล็ก คืออนุภาคนาโน จากนั้นนำน้ำยาตัวนี้มาใส่ในเส้นใยพลาสติก โดยใช้สารนำพา (carrier ) เป็นตัวช่วยทำให้สารกำจัดยุงและสารป้องกันการติดไฟแทรกตัวอยู่ในเส้นใยพลาสติกได้ดี สามารถทนการซักล้างได้ถึง 30 ครั้ง ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

“ในปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตทั่วโลกเพียง 5 รายเท่านั้น ที่สามารถผ่านมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศต่างๆ ในประเทศแถบทวีปแอฟริกา โดยปัจจุบันมุ้งกันยุงชนิด LLIN (Long Lasting Insecticide Net) มีความต้องการทั่วโลกไม่น้อยกว่า 100 ล้านหลังต่อปี รวมถึงมุ้งนาโนที่ผลิตขึ้นนี้ยังมีคุณสมบัติที่มีความแตกต่างจากมุ้งทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งถือเป็นการพัฒนามุ้งที่มีส่วนผสมของสารฆ่ายุงรายแรกของประเทศไทยที่ผ่านมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก”
นายศุภชัย หล่อโลหะการ ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
สำหรับแผนการตลาดทางบริษัทฯ ตั้งเป้าไว้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นนี้จะส่งออกต่างประเทศ 90% ภายใต้แบรนด์ “Cozynet-Life” และจำหน่ายภายในประเทศ 10% ภายใต้ตราสินค้า “ไทเกอร์” ขนาด 2x2 เมตรซึ่งถือว่าเป็นตราสินค้าของคนไทยโดยแท้ ส่วนอนาคตเล็งต่อยอดเป็นชุดรปภ., จีวรพระ และเสื้อผ้ากันยุ่งต่อไป โดยราคามุ้งธรรมดาที่ขายในตลาดจะจำหน่ายในราคา 100-300 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเนื้อผ้าอายุการใช้การประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี แต่มุ้งนาโนที่ผลิตขึ้นนี้ จำหน่ายในราคา 370 บาท ซึ่งแม้ว่าจะมีราคาที่สูงกว่าเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับคุณสมบัติที่ได้ ถือว่ามีความคุ้มค่ามาก มีอายุการใช้งานถึง 2 ปี

จากความสำเร็จนี้ถือได้ว่าหน่วยงานภาครัฐมีส่วนในการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวประสบความสำเร็จ โดย “ศุภชัย หล่อโลหะการ” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวถึงความร่วมมือกับภาคเอกชนในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีก่อเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ตามโครงการที่สำนักงานนวัตกรรมให้การสนับสนุนเพื่อผลิตมุ้งกำจัดยุงและหน่วงการติดไฟในเชิงพาณิชย์ ในโครงการ “นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย” จำนวน 700,000 บาท จากวงเงินกู้ 10,074,100 บาท ซึ่งโครงการดังกล่าวมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 37,107,100 บาท
มุ้งนาโนกันยุงสีฟ้า
นอกจากนี้ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ยังได้ร่วมกับ บริษัท บางกอก เบดเน็ท อาร์แอนด์ดี มาร์เก็ตติ้ง และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มอบมุ้งนาโนกันยุงช่วยน้ำท่วมแก่จังหวัดผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้จำนวน 1,000 หลัง ส่วนผู้ที่ต้องการบริจาคมุ้งนาโนป้องกันยุง ทางบริษัทฯ พร้อมจำหน่ายในราคาพิเศษเพื่อช่วยเหลือคนไทยโดยเฉพาะ ด้วยกำลังการผลิตหลักหมื่นหลังต่อสัปดาห์

***สนใจติดต่อ 03-4872-281-3, 08-4737-2559 หรือที่ www.thaibednets.com***
กำลังโหลดความคิดเห็น