xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีฯSMEs ปีกระต่ายเริ่มไม่สวย ม.ค.ทรุดทุกภาคธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สสว.
สสว. รายงานดัชนีความเชื่อมั่น ต้นปีกระต่ายม.ค. 54 เริ่มไม่สวย ลดลงอยู่ที่ 51.7 ทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการค้าส่ง-ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค บริการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เป็นกลุ่มที่ค่าดัชนีลดลงมากที่สุด ชี้ปัจจัยสำคัญมาจากผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนชะลอการใช้จ่าย ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่โดยภาพรวมยังมีความเชื่อมั่นในระดับดี ผลจากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวดีทุกด้าน การส่งออกดีขึ้นต่อเนื่อง และมาตรการประชาวิวัฒน์ของรัฐบาล

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนมกราคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2553 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ อยู่ที่ 51.7 จากระดับ 55.0 (ลดลง 3.3) และเป็นการลดลงทุกภาคธุรกิจ โดย ภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 52.0 51.4 และ 51.8 จากระดับ 52.4 55.5 และ 55.2 (ลดลง 0.4 4.1 และ 3.4) ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 49.9 และ 51.4 จากระดับเดี่ยวกันที่ 51.0 (ลดลง 1.1 และ 0.4) ตามลำดับ

สาเหตุมาจากประชาชนชะลอการใช้จ่ายหลังจากมีการเร่งการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้การจำหน่ายสินค้าในภูมิภาคชะลอตัวลง สอดคล้องกับตัวเลขการจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2554 ปรับตัวลดลงหลายกลุ่ม ที่สำคัญราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นนอกจากนี้นักลงทุนต่างชาติย้ายการลงทุนออกจากตลาดหุ้นไทยไปที่สหรัฐซึ่งมีภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ส่งผลให้ Set Index ณ สิ้นเดือนมกราคม ลดลงถึง 68.66

เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ภาคค้าส่ง ค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 52.7 จากระดับ 55.9 (ลดลง 3.2) ภาคค้าปลีก ดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 52.2 จากระดับ 60.2 (ลดลง 8.0) ส่วนภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงมากที่สุด โดยกิจการบริการท่องเที่ยว โรงแรม/เกสต์เฮ้าส์/บังกะโล และร้านอาหาร/ภัตตาคาร ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 50.2 50.6 และ 54.2 จากระดับ 57.5 56.8 และ 56.1 (ลดลง 7.4 6.2 และ 1.8) ตามลำดับ

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55.7 จากระดับ 52.9 (เพิ่มขึ้น 2.8) โดยภาคค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 56.0 และ 55.5 จากระดับเดียวกันที่ 52.5 (เพิ่มขึ้น 3.5 และ 3.0) ตามลำดับ โดยเฉพาะบริการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เป็นกลุ่มที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูการท่องเที่ยว และสถานการณ์ด้านท่องเที่ยวยังคงคึกคักต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนมกราคม แม้จะมีตัวเลขลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ส่วนภาคค้าส่ง ค่าดัชนีลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 55.5 จากระดับ 55.7 (ลดลง 0.2)

“เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมในเดือนมกราคม แม้จะมีค่าดัชนีปรับตัวลดลง แต่ยังอยู่ในระดับเกินกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในระดับที่ดี โดยมีปัจจัยบวกมาจาก เศรษฐกิจโดยภาพรวมขยายตัวดีขึ้นในทุกด้าน ซึ่งกระทรวงการคลังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 การส่งออกในเดือนนี้ ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องโดยมีมูลค่า 16,747.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 22.2 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอยู่ที่ 30.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออก ราคาพชผลการเกษตรยังอยู่ในระดับที่ดี นอกจากนี้มาตรการประชาวิวัฒน์ 9 ข้อ ของรัฐบาลยังส่งผลดีในเชิงจิตวิทยา” ผอ.สสว. กล่าว

สำหรับผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือนมกราคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2553 พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าดัชนีลดลง โดยภูมิภาคที่มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 49.9 จากระดับ 58.2 (ลดลง 8.3) รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 51.3 จากระดับ 58.6 (ลดลง 7.3) และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 52.4 จากระดับ 59.0 (ลดลง 6.6) ในส่วนภูมิภาคที่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 53.5 จากระดับ 51.5 (เพิ่มขึ้น 2.0) และภาคใต้ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50.4 จากระดับ 49.3 (เพิ่มขึ้น 1.1)
กำลังโหลดความคิดเห็น