xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันอาหารเผยยุทธศาสตร์ปี 54ดัน 4แนวทางพัฒนาเอสเอ็มอีสู่เวทีโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร
สถาบันอาหาร เผยยุทธศาสตร์รับปีกระต่าย 4 แนวทาง สร้างนวัตกรรมพัฒนาเอสเอ็มอี ข้อมูลทันสมัย ยกระดับสู่มาตรฐานสากล พัฒนาสมรรถนะสถาบัน พร้อมดึง 5 โครงการทำดีเพื่อพ่อ 84 พรรษา พัฒนา 84 ผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้านแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารปี 54 คาดชะลอตัวผลกระทบค่าเงินและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ตั้งเป้าขยายตัวเพียงร้อยละ1.6 โดยมูลค่าการส่งออก 809,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.79 ต่ำกว่าปี 2553ขยายตัวถึงร้อยละ 6.42 พร้อมแนะอาหารดาวรุ่ง เนื้อปลาแช่แข็งแบบฟิลเลต

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์ของสถาบันอาหารในปี 2554 ว่า ทางสถาบันจะมุ่งเน้นการทำงานภายใต้กรอบ 4 ด้าน คือ 1. สร้างนวัตกรรมและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเพื่อสร้รางศักยภาพเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน 2. พัฒนาระบบข้อมูลด้านอุตสาหกรรมอาหารให้ทันสมัย 3. ยกระดับอาหารก้าวสู่มาตรฐานและห่วงโซ่อาหารสู่สากล 4. พัฒนาสมรรถนะสถาบันให้มากขึ้น

สำหรับโครงการที่จะดำเนินการในปีนี้ ประกอบด้วย โครงการทำดีเพื่อพ่อ 84 พรรษา โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์ใหม่ 84 ผลิตภัณฑ์ เข้าร่วม มีด้วยกัน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โครงการพัฒนาคุณภาพความปลอดภัยโรงงานในพื้นที่มาบตาผุด (Green Productivity System) โครงการอุตสาหกรรมก้าวไกล เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง โครงการ GMP in Mass Catering Hospital/School และ โครงการเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร
ด้านนายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 1.6 โดยอัตราการขยายตัวในสัดส่วนที่ต่ำลงจากปี 2553 ที่มีการขยายตัวร้อยละ 4.3 ซึ่งคาดว่าในปี 2554 จะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 809,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.79 ต่ำกว่า ปี 2553 ที่มีการขยายตัวร้อยละ 6.42 สาเหตุมาจากการแข็งค่าของค่าเงินบาท และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว โดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและเอเชียตะวันออก เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ แนวโน้มการขยายตัวที่ชะลอตัวลงเช่นกัน

โดยในส่วนของปัจจัยเสี่ยง ที่จะได้รับผลกระทบ อาทิ วัตถุดิบ พลังงาน ค่าจ้าง ดอกเบี้ย และในแง่การตลาดก็ชะลอตัวลง ซึ่งทุกอย่างเป็นปัจจัยความเสี่ยงระยะสั้น จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์พบว่า ในปี 2554 มี 7 กระแสที่มาแรงและเป็นแนวโน้มความต้องการของตลาดโลก ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ 2. กระแสSustainability and substance 3. กระแส Clean labeling เช่น ฉลาก Carbon Footprint เป็นต้น 4.กระแส Value for money เช่น Functional Food 5.กระแส Simplicity and specificity อาหารมาจากธรรมชาติ 6. กระแสย้อนยุค 7.กระแส Incremental innovation/Radical Innovation

สำหรับผลิตภัณฑ์ดาวรุ่ง ในการส่งออกปีนี้ ได้แก่ เนื้อปลาแช่แข็งแบบฟิลเลต สอดรับกระแสสุขภาพ ประเทศไทยส่งออกปลานิลแบบฟิลเลตไปสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 นอกจากนี้ตลาดญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ สเปน เดนมาร์ก แคนาดา ออสเตรเลีย ก็มีการขยายตัวดีเช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังมี กุ้งแช่แข็ง กุ้งชุบขนมปัง/แปรรูปแช่แข็ง ไก่แปรรูป ซอสถั่วเหลือง ซึ่งมีแนวการขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 30 สับปะรดกระป๋อง เป็นดาวรุ่งในตลาดใหม่ที่ไทยน่าจะส่งออกได้มาก ตลาดมีแนวโน้มดี ได้แก่ รัสเซีย ยูเครน อัลจีเรีย เม็กซิโก อาร์เจนตินา จอร์แดน นิวซีแลนด์ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น