xs
xsm
sm
md
lg

‘ศรีวรรณาเซรามิกส์’ ปรับตัวสู้วิกฤตพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวจรัสศรี ธรรมเสน
ปัญหาด้านพลังงานไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น แม้แต่ผู้ผลิตงาน Handmade ธุรกิจเซรามิกส์เล็กๆ ก็ยังได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เมื่อพลังงานนับวันยิ่งมีน้อยลง ตรงข้ามกับราคาที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการที่เร่งปรับตัวได้เร็วก็มีโอกาสจะอยู่รอดมากขึ้น

นางสาวจรัสศรี ธรรมเสน ผู้จัดการโรงงานศรีวรรณาเซรามิกส์ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้านเซรามิก กล่าวว่า โรงงานก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 ขณะนั้นผลิตเครื่องปั้นดินเผาพื้นบ้านสำหรับใช้ในครัวเรือน อาทิ หม้อแช่ข้าวเหนียว ไหใส่เกลือแบบโบราณเน้นการใช้งานในท้องถิ่น จนถึงพ.ศ. 2526 เกิดจุดเปลี่ยนเมื่อมีผู้ส่งออกนำไหที่โรงงานฯ ผลิตมาเพิ่มลวดลาย ปรับปรุงรูปแบบใหม่ให้สอดรับกับความต้องการและประโยชน์ใช้สอยของลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น

“นับเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเป็นเพียงการผลิตเพื่อจำหน่ายในพื้นที่มาเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก ปัจจุบันมีตลาดต่างประเทศมากกว่า 80% ส่วนใหญ่เป็นตลาดในแถบยุโรป อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ ออสเตรเลีย ฯลฯ ต่อมาได้เปลี่ยนจากการใช้เครื่องจักรผลิตในปริมาณมากๆ หรือ mass product มาเป็นงาน Handmade ทั้งหมดเมื่อ 5-8 ปีที่ผ่านมา เพื่อหนีการแข่งขันสินค้าราคาถูกจากจีนและเวียดนาม”

นางศรีวรรณา ธรรมเสน เจ้าของศรีวรรณาเซรามิกส์ เล่าว่า กว่ากิจการจะตั้งตัวได้ต้องล้มลุกคลุกคลานมามาก โดยเฉพาะเรื่องเตาเผาเซรามิก และการสูญเสียพลังงาน ถือเป็นปัญหาใหญ่ของโรงงาน ซึ่งกว่าจะลงตัวได้ใช้เวลานับสิบๆปี โดยเตาเผาที่ใช้มีการพัฒนามาถึง 3 แบบ โดยระยะแรกเป็นเตาเผาก่ออิฐแบบโบราณ(แมงป่อง)ใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ใช้เวลาเผานานถึง 3 วัน ต่อมาเปลี่ยนเป็นการใช้ก๊าซหุงต้ม(LPG) แทน ระยะเวลาในการเผาลดลงเหลือ 2 วัน และปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เตาเผาก่ออิฐหุ้มไฟเบอร์ (วัสดุทนไฟ) นำเข้าจากประเทศเยอรมัน แต่ยังคงใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง ช่วยลดเวลาในการเผาเหลือเพียง 1 วัน แต่ยังติดปัญหาเรื่องของการสูญเสียและการใช้พลังงานยังไม่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่

นอกจากนี้ จุดเด่นของโรงงานอีกประเด็นที่สำคัญคือ “ดิน” ด้วยความรู้เรื่องดินเป็นทุนเดิมของคุณแม่หรือคุณศรีวรรณา และมี “แหล่งดิน” ที่เหมาะสำหรับผลิตเซรามิกเป็นของตนเอง ทำให้โรงงานสามารถผลิต “ดิน” ออกจำหน่ายให้กับโรงงานผลิตเซรามิกส์อื่นๆ เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งแหล่งดินดังกล่าวส่วนใหญ่จะอยู่ที่อ.แม่ริม และ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

นางศรีวรรณา อธิบายว่า ดินที่มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับผลิตเซรามิกนั้น มี 2 ชนิดด้วยกัน คือ ดิน บอลเคลย์ (Ball Clay) เกรดดี เป็นเนื้อดินเหนียวสีดำ ไม่มีเม็ดทรายปน มีคุณสมบัติทนไฟสูง สำหรับเตาเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า1,200 - 1,300 องศาเซลเซียส สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีรูปทรงสูง เช่น กระถาง หรือ แจกัน ส่วนดินอีกชนิดหนึ่ง คือ ดิน บอลเคลย์ (Ball Clay) เกรดรอง เนื้อดินจะมีสีชมพูและมีเนื้อดินเหนียวน้อย ใช้ผสมกับดินจากโรงงานอื่นๆ เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้อุณหภูมิในการเผาต่ำ คือ ไม่เกิน 1,250 องศาเซลเซียส ซึ่งทางโรงงานได้ผลิต “ดิน” ทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวออกจำหน่ายให้กับโรงงานผลิตเซรามิกส์อื่นๆ ด้วย

แต่ทั้งนี้นอกจากดินบรอนเคแล้ว คุณสมบัติของดินยังแตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ อาทิ ดินขาวเกาลีน หรือ ดินขาวลำปาง ซึ่งดินชนิดนี้จะไม่สามารถดึงขึ้นแป้นหมุนให้ขึ้นรูปที่มีขนาดสูงเกินกว่า 6 นิ้วได้ ส่วนดินเลนของราชบุรี เป็นดินที่นิยมใช้ผลิตโอ่งสามารถขึ้นแป้นหมุนดึงให้สูงได้ด้วยการตีวงแต่ไม่เหมือนดินบรอนเคของเชียงใหม่ ที่สามารถดึงเนื้อดินให้สูงขึ้นได้รูปทรงตามต้องการ ดังนั้น การใช้ดินอะไรขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการผลิตและการนำไปใช้งาน รวมถึงสูตรน้ำเคลือบที่แตกต่างกัน

สำหรับเตาเผาเซรามิกที่ใช้อยู่ปัจจุบันยังประสบปัญหาเรื่องของพลังงาน จึงได้ร่วมกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)เครือข่ายภาคเหนือในการปรับเตาเผาผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดย iTAP ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย จ.ลำปาง เข้ามาให้คำแนะนำปรึกษาการปรับปรุงและพัฒนาเตาเผาเซรามิกให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและวางแนวทางขั้นตอนการดูแลเตาเผาและการเผาผลิตภัณฑ์

ผลที่ได้รับ คือ เตาเผาหลังจากการปรับปรุงมีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการสูญเสียความร้อนจากเตา และลดการใช้หุงต้ม (LPG) ลง โดยประเมินจากปริมาณการใช้เชื้อเพลิงก๊าซหุงต้ม (LPG) ลดลงได้ 190,080 กิโลกรัมต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,421,440 บาทต่อปี และยังช่วยเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรในโรงงานได้รู้วิธีการใช้และดูแลบำรุงรักษาเตาเผาที่ถูกต้อง

นางสาวจรัสศรี กล่าวว่า เตาเผาที่พัฒนาขึ้นมีขนาด 4 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 เตา สามารถประหยัดค่าก๊าซลงได้ 20-30% จากความร้อนที่ต้องสูญเสียไป 40% โดยปกติโรงานใช้ก๊าซ LPG ขนาด 48 กิโลกรัม จำนวน 60-70ถังต่อเดือน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยถังละ 940 บาท หลังการพัฒนาเตาเผาฯ ทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น บรรยากาศในการเผาดีขึ้น เช่น การเผาแต่ละครั้งจากเคยใช้อยู่ 6 ถังลดเหลือ 4 ถังต่อเตา ประหยัดลงได้ 2 ถัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้คุณภาพการเผาดีขึ้น อุณหภูมิภายในเตาคงที่ และยังลดปริมาณของเสียลงจากเดิม 50–70% เหลือเพียง 10-15% ถือว่าเป็นโครงการที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

ปัจจุบันโรงงานศรีวรรณาเซรามิกส์มีกำลังผลิต 2,000 ชิ้นต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมากสำหรับแรงงานฝีมือที่มีอยู่เพียง 70 คน โดยในปี 2553 นี้ได้ตั้งเป้ายอดขายให้เพิ่มขึ้นอีก 20% จากปีที่ผ่านมาซึ่งมีผลประกอบการลดลง 40-50% จากสถานการณ์เศรษฐกิจ แต่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เริ่มมีออร์เดอร์ต่างประเทศกลับเข้ามาแล้วโดยมียอดสั่งซื้อไว้แล้วไปจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้

นางสาวจรัสศรี กล่าวว่า การผลิตของโรงงานฯ ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องของปริมาณเพราะเป็นงานHandmade ที่ต้องใช้ความละเอียด ประณีต และทักษะฝีมือในการปั้นไม่สามารถผลิตออกมาคราวละมากๆ ได้ อีกทั้งการผลิตงานแต่ละชิ้นยังต้องใช้ระยะเวลาและกำลังคนขึ้นอยู่กับดีไซน์และขนาด เช่น ต้นปะการัง หรือการปั้นดอกกุหลาบ ต้องใช้คนงานผลิต 2–4 คนต่อ 1 ชิ้นแม้จะได้สินค้าน้อยชิ้นแต่ผลตอบรับจากตลาดดีมากทำให้สินค้ามีมูลค่าค่อนข้างสูง จึงไม่กระทบต่อผลประกอบการมากนัก

“เพราะไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องของกำไรเป็นหลัก แต่เน้นการทำงานแบบเศรษฐกิจพอเพียง ไม่คิดแข่งกับใครและมองทุกคนเป็นเพื่อน แม้ใครจะลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ก็ยินดี เพราะเรื่องของดีไซน์เราทำงานแบบมองไปข้างหน้า มีการวางแผนงานร่วมกับลูกค้าต่างประเทศล่วงหน้ากันเป็นปีๆ ไม่ใช่ปีต่อปี ซึ่งรูปแบบที่ออกมาในปีนี้ ถือว่าล้าหลังแล้วสำหรับเรา”

ต้องยอมรับว่า กว่าจะได้ซึ่งผลิตภัณฑ์เซรามิกที่สวยงามมาประดับตกแต่งหรือใช้ประโยชน์บนโต๊ะอาหารนั้น ผู้ประกอบการต้องใช้วัตถุดิบสิ้นเปลืองไปไม่น้อย เช่น ดิน แรงงานฝืมือ และพลังงานก๊าซในการเผา นอกจากนี้ยังต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์จึงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงามและมีคุณภาพ โรงงานศรีวรรณาเซรามิกส์ก็เช่นกัน เป็นผู้ประกอบการที่วางตัวเองได้ดี แม้จะเป็นโรงงานขนาด ‘เล็กแต่ใจใหญ่’ ยินดีแม้ใครจะลอกเลียน แต่ไม่ยอมลอกเลียนใคร เป็นผู้นำในการออกแบบ ทำให้“ ผลิตภัณฑ์เซรามิกของศรีวรรณาเซรามิกส์ จึงโดดเด่น แปลกแตกต่าง ด้วยดีไซน์ บวกประสบการณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร
ผู้สนใจผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ของโรงงานศรีวรรณาเซรามิกส์ สามารถติดต่อได้ที่ เลขที่ 27/1 หมู่ 1 ถ.เชียงใหม่-ลำปาง ต.สารภี อ.สารภี จ.เชียงใหม่ 50140 โทรศัพท์ (053)963-143-4 โทรสาร (053)963-149

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจขอรับการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ติดต่อได้ที่โครงการiTAP ( ส่วนกลาง ) โทร.02-564-7000 ต่อโครงการ iTAP หรือ เครือข่าย สวทช.ภาคเหนือ โทรศัพท์ (053)226-264 โทรสาร (053) 226-265 หรือเว็บไซต์ www.nn.nstda.or.th
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
         
          *****ข้อมูลโดย นิตยสาร SMEs Plus*********

กำลังโหลดความคิดเห็น