xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” ชูชินดังยกระดับลูกค้า ลั่นพร้อมปล่อยสินเชื่อประชาวิวัฒน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหารเอสเอ็มอีแบงก์ ถ่ายภาพกับผู้บริหาร ส.ส.ท. ในความร่วมมือโครงการนำระบบชินดังพัฒนาลูกค้าธนาคาร
“เอสเอ็มอีแบงก์” จับมือ “ส.ส.ท.” นำระดับชินดังยกระดับลูกค้า นำร่อง 100 ราย เล็งขยายผลใช้ประเมินลูกค้าทุกราย ด้าน “โสฬส” ประกาศพร้อมปล่อยสินเชื่อประชาวิวัฒน์ เชื่อหมดภายใน 1เดือน

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เอสเอ็มอีแบงก์มียอดสินเชื่อเติบโตอย่างสูง โดยมีสินเชื่อคงค้างกว่า 80,000 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้ (2554) จะถึง 100,000 ล้านบาท ซึ่งจากการหารือของคณะกรรมการบริหารธนาคาร ต้องการให้เกิดการเติบโตเชิงคุณภาพ ดังนั้น เอสเอ็มอีแบงก์ได้ร่วมมือกับสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (ส.ส.ท.) นำระบบวินิจฉัยกิจการ หรือ “ชินดัง” จากประเทศญี่ปุ่นที่ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 มาปรับใช้เพื่อยกระดับลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคาร

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะนำผู้เชี่ยวชาญด้านระบบชินดัง จาก ส.ส.ท. ทั้งชาวไทยและlญี่ปุ่น มาช่วยพัฒนาลูกค้าของธนาคาร ทั้งการวินิจฉัยสถานประกอบการ คำปรึกษาเฉพาะทาง เพิ่มมาตรฐานสินค้าหรือบริการ ฯลฯ ซึ่งเบื้องต้นได้คัดเลือกลูกค้ากลุ่มแรกมาร่วมโครงการ จำนวน 100 ราย มีทั้งลูกค้าที่ปรับโครงสร้างหนี้ ภาคขนส่ง ท่องเที่ยว และบริการ เป็นต้น

สำหรับเป้าหมายในปีหน้า (2555) จะขยายนำระบบชินดังไปใช้กับผู้ประกอบการก่อนที่จะยื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร และเป้าหมายสูงสุด คือ ยกระดับให้ลูกค้าเอสเอ็มอีมีระบบบริหารจัดการธรรมาภิบาล สามารถที่จะเติบโต และต่อยอดเข้าตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (MAI) ได้ในที่สุด

ด้านนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ เสริมว่า ในอนาคตต้องการให้ลูกค้าของธนาคารทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 53,000 ราย มาเข้าระบบชินดัง เพื่อจะเพิ่มศักยภาพ ให้สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

*** พร้อมเดินหน้าสินเชื่อประชาวิวัฒน์” ****

นายโสฬส สาครวิศว เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ ธนาคารมีความพร้อมที่จะให้บริการสินเชื่อประชาวิวัฒน์ตามนโยบายของรัฐบาล โดยตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2554 เป็นต้นไป จะใช้พื้นที่สำนักงานใหญ่ของเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเป็นศูนย์ให้คำแนะนำทั้งด้านเอกสาร และรายละเอียดต่างๆ แก่ผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการสินเชื่อดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมทุกด้าน สามารถยื่นกู้ได้ทันทีหลังรัฐบาลประกาศเริ่มโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีแบงก์ ได้รับวงเงินปล่อยกู้มาทั้งสิ้น จำนวน 1,100 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อรถแท็กซี่ 500 ล้านบาท และสินเชื่อสำหรับกลุ่มหาบเร่ และมอเตอร์ไซค์ 600 ล้านบาท โดยมีหลักเกณฑ์สำหรับกลุ่มแท็กซี่ วงเงินปล่อยกู้รายละไม่เกิน 800,000 บาท โดยใช้รถแท็กซี่ หรือบุคคลค้ำประกัน ส่วนกลุ่มหาบเร่ และมอเตอร์ไซค์ วงเงินปล่อยกู้รายละไม่เกิน 100,000 ราย ใช้บุคคลค้ำประกัน ทั้งสองกลุ่ม ระยะเวลาใช้คืนภายใน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยสูงสุด ไม่เกิน 12% ต่อปี

กก.ผจก.เอสเอ็มอีแบงก์ ระบุต่อว่า ในส่วนกลุ่มแท็กซี่คาดว่า จะปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 600 ราย ส่วนกลุ่มหาบเร่และมอเตอร์ไซค์ ประมาณ 6,000 ราย สามารถอนุมัติวงเงินได้ภายในเวลาแค่ 5 วัน โดยคาดว่า วงเงินสินเชื่อจะปล่อยหมดในเวลาไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งธนาคารจะใช้กติกาว่า ผู้ยื่นความประสงค์ก่อนจะได้รับการพิจารณาก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น