บริษัท ฟาสเทคโน จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้ ภายใต้การนำของ “กรภัคร์ มีสิทธิตา” ถือเป็นต้นแบบของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพันธุ์แกร่งอย่างแท้จริง ที่ฝ่าฟันวิกฤตมาได้สำเร็จ โดยนำข้อผิดพลาดต่างๆ ของตัวเองมาแก้ไขและพัฒนา ช่วยให้จากภาระหนี้ 129 ล้านบาท ทุกวันนี้ บริษัทไม่เพียงล้างหนี้ได้เท่านั้น แต่ยังก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้แข็งแรงมากกว่าอดีตที่ผ่านมา
***ตกหลุมวิกฤต ติดหนี้ 129 ลบ.!****
บริษัทนี้ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2530 เติบโตขึ้นจากการรับตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ไม้ให้แก่โรงแรมระดับหรู และโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับยักษ์ จนเมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 จากธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วมาตลอด มีทรัพย์สินนับ 100 ล้านบาท กับพนักงานกว่า 300 ชีวิต แค่ช่วงไม่กี่วัน กลับตาลปัตรมาเป็นหนี้กว่า 129 ล้านบาท แบบไม่ทันตั้งตัว
“ก่อนที่จะล้ม เราทำธุรกิจแบบจับเสือมือเปล่า มีทุนหลักแสน แต่รับงานหลักล้าน และค่อยๆ ขยับเป็นหลายสิบล้าน รับเหมาเอาแต่ธุรกิจใหญ่ๆ แต่พอมันสะดุด ก็ล้มตามๆ กัน” กรภัคร์ ย้อนจุดเปลี่ยนชีวิต
จากคนที่เคยมีฐานะขั้นเศรษฐี ชีวิตกลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เธอบอกว่า ถึงขนาดเคยต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารหลัก เพราะรายได้ที่พอจะเข้ามาบ้าง ต้องไปเคลียร์หนี้กับธนาคาร และจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน แต่ที่สุด ก็ต้านไม่ไหว ต้องกลายเป็นหนี้เอ็นพีแอล
***ก้าวใหม่กับเฟอร์นิเจอร์รวยไอเดีย****
เพื่อจะหาเงินจ่ายหนี้ ยอมตัดใจขายทั้งบ้าน รถ และที่ดิน แต่สิ่งที่ไม่ขาย คือ โรงงาน เพราะคิดว่า ถ้ายังมีโรงงานอยู่ ก็ยังสามารถทำมาหากินต่อได้ แต่ด้วยสภาพเป็นหนี้เสีย ไม่มีทางที่สถาบันการเงินจะยอมปล่อยสินเชื่อให้เริ่มธุรกิจใหม่
อย่างไรก็ตาม จากความช่วยเหลือของเพื่อนสนิท และญาติพี่น้อง ให้หยิบยืมเงิน มาประมาณ 4 ล้านบาท เป็นทุนสร้างธุรกิจใหม่ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่มากไปด้วยไอเดียสร้างสรรค์ ไม่เคยมีใครทำมาก่อน!
“ตอนนั้น พี่เหลือพนักงานแค่ 20 คน ก็ดูในโรงงานว่า พอจะมีอะไรเหลือทำได้บ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแค่เศษไม้ ก็คิดง่ายๆ ว่า ทำสินค้าชิ้นเล็ก ขายได้ง่าย มีเงินสดมาหมุนใช้ ซึ่งส่วนตัว พี่เป็นคนไม่ชอบทำตามแบบเหมือนใคร ก็เลยเอาเศษไม้ มาพัฒนาออกแบบใหม่ จนกลายเป็นสินค้าที่ไม่เหมือนใครในตลาด” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาสเทคโน จำกัด กล่าว
เดิมเคยทำตามแบบที่ลูกค้าสั่งเท่านั้น ต้องเปลี่ยนมาคิดแบบของตัวเอง สถานการณ์ดังกล่าวกลายเป็นสร้างโอกาสอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะแม้ในความเป็นจริง กรภัคร์จะจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ แต่ฝีมือการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เป็นพรสวรรค์ที่อยู่ในตัว ประกอบกับประสบการณ์คลุกคลีในวงการเฟอร์นิเจอร์มายาวนาน เมื่อรวมเข้ากับจุดยืนที่ไม่ต้องการผลิตสินค้าซ้ำแบบใคร เฟอร์นิเจอร์ไม้ทุกชิ้นที่ทำขึ้นจึงล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้ตลาดตอบรับอย่างดียิ่ง และธุรกิจค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นโดยลำดับ
สำหรับเฟอร์นิเจอร์มากไอเดียของบริษัท เช่น ฉากกั้นที่นอกจากดีไซน์สวยงามแล้ว ยังสร้างจุดขายนำเสนอเป็นฉากกั้นแก้ฮวงจุ้ย ถือเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศนับถึงปัจจุบัน
เฟอร์นิเจอร์ แบบ DIY(Do it yourself) เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่สามารถซื้อไปประกอบได้ด้วยตัวเอง เช่น ชั้นวางของแบบบิวส์อิน รวมถึง สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นเฟอร์นิเจอร์จากไผ่เส้น ป้องกันปลวก มอดได้ 100% ส่วนเศษไม้ต่างๆ จับมาใส่ดีไซน์ทำเป็นของแต่งบ้าน เช่น ม่าน พรมไม้ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นรายแรกของประเทศ โดยจดสิทธิบัตรคุ้มครองไว้แล้ว
*****พลิกบทเรียนพลาดเสริมแกร่งธุรกิจ******
จากความผิดพลาดต่างๆ ในอดีต กรภัคร์ใช้เป็นครูปรับแก้การบริหารธุรกิจ เช่น ไม่ยึดติดกับการจับตลาดใดตลาดหนึ่งเท่านั้น หันมากระจายความเสี่ยงด้วยการผลิตสินค้าจับตลาดได้แทบจะทุกกลุ่ม ภายใต้ 5 แบรนด์ เริ่มจาก “FASTTECH” “Cheng Do” “WALLRIS” “3E” และ “Smart Bamboo” ตามลำดับ โดยแต่ละแบรนด์จะมีจุดเด่นเฉพาะตัว และมีลูกค้าเป้าหมายต่างกันไป ราคาสินค้ามีตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่น อย่าง FASTTECH จะเน้นราคาไม่แพง เหมาะกับตลาดคนรุ่นใหม่ระดับกลาง ที่อยู่ในคอนโดมิเนียม หรือห้องเช่า ซึ่งมีพื้นที่ไม่กว้างนัก แบรนด์ “3 E” เน้นเป็นสินค้าเพื่อกลุ่มเด็ก และแบรนด์ “Smart Bamboo” เป็นงานตกแต่งสถานที่เน้นตลาดบน เป็นต้น
กรภัคร์ เสริมว่า ทุก 3 เดือนจะต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อหาตลาดใหม่ๆ นับถึงปัจจุบัน สินค้ามีกว่า 1,700 รายการ ซึ่งไอเดียออกแบบ จะดูจากกระแสตลาด อีกทั้งใช้ข้อแนะนำจากลูกค้ามาพัฒนา ส่วนวัตถุดิบไม้ เน้นความหลากหลาย มีทั้งไม้สัก ไม้ไผ่ ไม้ยูคาลิปตัส และไม้ MDF (Melamine Faced Chipboard) เป็นต้น
ในด้านทำตลาด จากเคยรับเหมาได้เงินครั้งละหลักล้าน เมื่อเปลี่ยนมาขายเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กๆ ราคาหลักร้อย ช่วงแรกจะลุยออกบูทขายตามงานแสดงสินค้า ซึ่งจะลงไปขายด้วยตัวเองทุกครั้ง จากนั้น ต่อยอดด้วยการส่งขายในห้างโมเดิร์นเทรด และร้านขายสินค้าตกแต่งบ้านทั่วไป อีกทั้ง มีโชว์รูมของบริษัทเองที่เจเจ มอลล์ และลาดพร้าว 59
สำหรับสัดส่วนตลาดเวลานี้ รายได้กว่า 90% จะขายภายใต้แบรนด์ของตัวเองเท่านั้น ส่วนรับจ้างผลิต หรือ OEM เพียงแค่ 10% เท่านั้น เน้นขายในประเทศกว่า 80% ส่วนส่งออกแค่ 20% ไปที่ญี่ปุ่น และยุโรปเท่านั้น เนื่องจากไม่ต้องไปแข่งขันด้านราคากับผู้ผลิตจากจีนหรือเวียดนาม
***ทะยานผู้นำตลาดไม่หวั่นวิกฤต****
จากหนี้กว่า 129 ล้านบาท เฉพาะภาระดอกเบี้ย เดือนละ 6 แสนบาท กรภัคร์ใช้เวลากว่า 10 ปี สามารถปลดหนี้ดังกล่าวสำเร็จ และที่สำคัญกว่านั้น เฟอร์นิเจอร์ภายใต้ชื่อบริษัท ทุกวันนี้ กลายเป็นผู้นำตลาด มีศักยภาพเข้มแข็ง
ดูได้จาก ปีที่แล้ว (2552) ที่บริษัทอื่นๆ ส่วนใหญ่ประสบวิกฤตจากเศรษฐกิจโลกหดตัว แต่สำหรับเอสเอ็มอีรายนี้ กลับสวนกระแส แทบจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะสินค้ามีจุดขายชัดเจน ไม่ซ้ำแบบใคร และจับตลาดหลากหลาย แม้ลูกค้าบางส่วนจะหดหายไป แต่มีลูกค้ากลุ่มใหม่มาทดแทนเสมอ
“ปัจจุบันบริษัทมีพนักงาน ประมาณ 70 คน ผลประกอบการปีที่แล้วประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งในแง่ตัวเงิน น้อยกว่าตอนก่อนปี 2540 มาก ทว่า ถ้ามองแง่ความมั่นคงทางธุรกิจที่เราสามารถบริหารจัดการได้ และความสุขในการทำงาน ถ้าให้พี่เลือก บอกได้ทันทีเลยว่า ขอเลือกเป็นอย่างปัจจุบันดีกว่า” กรภัคร์ กล่าวทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี
@@@@@@@@@@@@@@
0-2731-0292-4 หรือ www.fasttechno.com