ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยตื่นตัวรับมือเปิด JTEPA จับมือญี่ปุ่น ผุดโครงการพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ร่วมกัน เพิ่มโอกาสเจาะตลาดแดนปลาดิบ ด้านเซียนแนะสร้างคุณภาพมากกว่าปริมาณ เน้นชุดลำลองเจาะตลาดบน
นายเดช พัฒนเศรษฐพงษ์ ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย เผยว่า จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่เริ่มตั้งแต่กลางปี 2552 เป็นต้นมา สหพันธ์ฯ และกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมทำโครงการพัฒนาผ้าผืน/เสื้อผ้าสำเร็จรูปสู่ตลาดญี่ปุ่น ทั้งด้านการตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาการผลิตผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย เพื่อขยายโอกาสในการส่งสินค้าจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่น
ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมโครงการ จำนวน 12 บริษัท โดยการดำเนินโครงการ เริ่มตั้งแต่เดินทางไปศึกษาตลาดที่ประเทศญี่ปุ่น และฝ่ายญี่ปุ่นส่งผู้เชี่ยวชาญมาเยี่ยมชมโรงงานของไทย ได้แก่ โรงทอ โรงย้อม และโรงงานตัดเย็บ รวมถึงให้คำแนะนำ เป็นต้น
นอกจากนั้น ผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ได้พัฒนาพร้อมจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่น จะนำมาแสดงในงานสินค้าแฟชั่นและงานแสดงสินค้าเครื่องหนัง (BIFF & BIL 2010) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 4 เมษายน 2553 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 เมืองทองธานี
ด้านนายชิเงรุ ฟุรุมิยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดจากสมาคมผู้นำเข้าสิ่งทอญี่ปุ่น (Japan Textile Importer Association - JTIA) เผยว่า แนวโน้มแฟชั่นในตลาดญี่ปุ่น เสื้อผ้าที่ขายดี คือ ที่ตัดเย็บจากผ้า Tencel ที่มีเส้นใยผสมกันมากกว่า 2 ชนิด เช่น Tencel/Modal เนื่องจากลักษณะของภูมิอากาศที่ร้อนและชื้นมากของญี่ปุ่น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรศึกษาตลาดญี่ปุ่นอย่างละเอียด โดยตลาดสินค้าที่น่าสนใจคือ เสื้อผ้าลำลองที่มีคุณภาพสูงกว่าปกติ รวมถึง ตลาดญี่ปุ่น นอกจากด้านแฟชั่นแล้ว ยังให้ความสำคัญด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสี การหดตัว และการเปลี่ยนรูปร่างของเสื้อผ้า จึงเป็นจุดที่สำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องระวังมากเช่นกัน
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีมาตรฐานสินค้าต่างๆ อยู่มากมาย หากสินค้าใดทดสอบแล้วไม่ผ่านเกณฑ์ จะไม่สามารถวางขายในตลาดญี่ปุ่นได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ควรทดลองผลิตหลายๆ รูปแบบ หลายๆ ตัวอย่าง ต้องเก็บข้อมูลก่อนการผลิต ระหว่างการผลิต และหลังการผลิตไว้สำหรับการเจรจาตกลงกัน รวมทั้งศึกษาตลาดและเทรนด์ให้ถี่ถ้วน
สำหรับเทรนด์ในตลาดญี่ปุ่นสำหรับปี 2010 และ 2011 จะเป็นแนวคลาสสิกและธรรมชาติ และผิวสัมผัสที่อ่อนนุ่ม บางเบา อาจเพิ่มความหรูหราหรือลูกเล่นโดยการปักหรือแต่งเสริมให้เสื้อผ้ามีความน่าสนใจขึ้น เป็นต้น แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ลูกค้าญี่ปุ่นยังคงต้องการสินค้าคุณภาพสูง”