xs
xsm
sm
md
lg

เรือหัวโทง ศิลปะงานไม้ ลำนำชีวิตชายฝั่งอันดามัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ช่างอยู่ในระหว่างการต่อเรือ
เรือเพรียวลม รูปทรงคล้ายกระบี่ ลอยลำท่ามกลางฟ้าคราม น้ำทะเลสวยใส” เสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนทะเลอันดามัน ที่มักพบเห็นดาษดื่นบนแผ่นโปสการ์ด ภาพถ่ายของผองเพื่อน หรือแม้แต่หนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว


เรือหัวโทง จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งการท่องเที่ยวทะเลไทยฝั่งอันดามัน ที่พร้อมพานักท่องเที่ยวไปเยือนยังเกาะแก่งนับร้อยแห่ง ด้วยลักษณะเด่นของหัวเรือที่เชิดขึ้นเวลาแล่นอยู่กลางทะเล พร้อมแหวกฝ่าคลื่นสูงที่สัดสาด ให้ทะยานเคลื่อนไปยังจุดหมายปลายทางเรือหัวโทง ไม่ได้เป็นเพียงสื่อสัญลักษณ์ของพาหนะนำพานักท่องเที่ยว แต่เป็นพาหนะที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนริมฝั่งทะเลอันดามัน เป็นทั้งเครื่องมือทำมาหากิน วางอวน ดักลอบ กุ้ง ปู ปลา ทั้งใช้เป็นพาหนะในการเดินทางและการขนส่งทั้งคนและสินค้า

ที่สำคัญเป็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ซึ่งเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ดัดแปลงพาหนะให้เหมาะสมกับสภาพลม ฟ้า อากาศ เพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน หนึ่งในทุนทางสังคมด้านวัฒนธรรมที่ “นางสาวกันทิมา บ่อหนา” นวัตกรรมสังคมจาก ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการศึกษาทุนทางสังคมเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า โดยได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ค้นพบว่า การต่อเรือหัวโทงเป็นอาชีพหนึ่งที่สำคัญของคนในชุมชน ด้วยสภาพชุมชนของตำบลตลิ่งชันส่วนใหญ่เป็นชาวประมง ถ้าไม่มีการต่อเรือคนตลิ่งชันจะออกทะเลได้อย่างไร การต่อเรือหัวโทง จึงกระจายอยู่ทั่วทั้งตำบลตลิ่งชันโดยถ่ายทอดการเรียนรู้จากคนในชุมชนซึ่งล้วนเป็นเครือญาติกัน

นายหมาดโยบ กุลพ่อ ช่างผู้ชำนาญในการต่อเรือ และได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน บ้านปากหรา ต.ตลิ่งชัน ให้เป็นปราชญ์ท้องถิ่นด้านวัฒนธรรมในการอนุรักษ์อาชีพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเรียนรู้การต่อเรือมาตั้งแต่อายุ 12 จนปัจจุบันอายุ 54 ปี เล่าให้ฟังว่า การสร้าง "เรือหัวโทง" เป็นเรือประมงพื้นบ้านทำจากไม้พะยอมซึ่งทนเพรียงได้ดี หรือไม้ทัง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำมาหากินของคนท้องถิ่นในจ.กระบี่ และได้รับความนิยมจากชาวประมงทั่วทุกสารทิศ โดยเฉพาะทางแถบฝั่งทะเลอันดามัน ทั้ง ภูเก็ต พังงา ระนอง ตรัง สตูล

“คนที่ออกทะเลก็จะมีอาชีพประมงหาปู หาปลา คนที่ไม่ได้ออกทะเลก็เป็นช่างต่อเรือ เป็นอาชีพที่สร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวกันมาได้ เพราะสมรรถนะเรือต่างจากรถยนต์ ตรงที่ยิ่งซ่อมบ่อยยิ่งใช้งานได้ดี รายได้จึงมาจากค่าจ้างต่อเรือตั้งแต่ 2,000-5,000 บาทต่อลำ และค่าแรงจากการบำรุงรักษา เช่น เปลี่ยนไม้ 800 บาทต่อแผ่น ไม่รวมค่าไม้เมตรละประมาณ 150 บาท”
“เรือประมงพื้นบ้านจะมีขนาดเล็ก 13 ตัวกง สำหรับ 1-2 คน ใช้ในการวางอวนกุ้ง ปู ราคาประมาณ 20,000 บาทต่อลำ แต่ปัจจุบันเรือหัวโทงเป็นที่นิยมสำหรับรับนักท่องเที่ยว จึงนิยมสั่งต่อเรือขนาด 21-23 ตัวกง เพื่อบรรทุกคนได้คราวละมากๆ ราคาประมาณ 1 แสนบาทขึ้นไป ใช้คน 3-4 คน ในเวลา 10 วันเสร็จพร้อมลงน้ำได้เลย กำไรประมาณ 60,000-70,000 บาทต่อลำ”

“คนที่ออกทะเลก็จะมีอาชีพประมงหาปู หาปลา คนที่ไม่ได้ออกทะเลก็เป็นช่างต่อเรือ เป็นอาชีพที่สร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวกันมาได้ เพราะสมรรถนะเรือต่างจากรถยนต์ ตรงที่ยิ่งซ่อมบ่อยยิ่งใช้งานได้ดี รายได้จึงมาจากค่าจ้างต่อเรือตั้งแต่ 2,000-5,000 บาทต่อลำ และค่าแรงจากการบำรุงรักษา เช่น เปลี่ยนไม้ 800 บาทต่อแผ่น ไม่รวมค่าไม้เมตรละประมาณ 150 บาท”
“เรือประมงพื้นบ้านจะมีขนาดเล็ก 13 ตัวกง สำหรับ 1-2 คน ใช้ในการวางอวนกุ้ง ปู ราคาประมาณ 20,000 บาทต่อลำ แต่ปัจจุบันเรือหัวโทงเป็นที่นิยมสำหรับรับนักท่องเที่ยว จึงนิยมสั่งต่อเรือขนาด 21-23 ตัวกง เพื่อบรรทุกคนได้คราวละมากๆ ราคาประมาณ 1 แสนบาทขึ้นไป ใช้คน 3-4 คน ในเวลา 10 วันเสร็จพร้อมลงน้ำได้เลย กำไรประมาณ 60,000-70,000 บาทต่อลำ”

การต่อเรือต้องอาศัยความชำนาญและการฝึกฝนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมมาดเรือ การต่อไม้กระดาน การวัดความกว้าง การใส่กงข้าง ใส่กงท้องหรือกงต่อตรงกลาง ใส่หัวเรือ-ท้ายเรือ การปิดหัวกง การใส่เส้นตา การใส่ลูกกล้วย การตกแต่งเรือ การตอกหมับเป็นอาชีพที่ต้องทำงานตั้งแต่ 7.00 – 18-00 น. ไม่มีวันหยุด แต่ดีตรงที่เหนื่อยก็หยุดทำเพราะทำอยู่กับบ้าน หายเหนื่อยก็ทำต่อ ปัจจุบันทำได้ง่ายและเร็วขึ้นเพราะมีอุปกรณ์เครื่องทุนแรงด้วยไฟฟ้าให้ใช้”นายหมาดโยบ ผู้มีความรู้เรื่องการต่อเรือหัวโทง ซึ่งเจ้าตัวเปรียบเทียบให้ฟังว่าเหมือนอ่านหนังสือได้ตลอดทั้งเล่มโดยไม่ต้องเปิดหน้าหนังสือ และพร้อมที่จะถ่ายทอดแก่ผู้มีใจรักและอดทน โดยเปิดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนและตั้งกลุ่มธนาคารเรือเพื่อช่วยเหลือคนทุนน้อยในชุมชน

นายซ้อลีน คลองยวน และนางดรุณี กุลพ่อ ผู้สืบสานงานต่อเรือหัวโทงเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับครอบครัว กล่าวว่า เป็นอาชีพที่ใช้แรงงานของคนในครอบครัว 1-2 คน ก็ทำได้ ถ้าต่อเรือขนาดเล็ก 13 ตัวกง ใช้เวลา 6 วัน ต้นทุนประมาณ 12,000-13,000 บาท ขายได้ราคา 20,000 บาท ปีหนึ่งๆ มีคนมาสั่งต่อเรือประมาณ 20 ลำ ในปี 2552 ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวนิยมมาสั่งต่อเรือขนาด 21 ตัวกง เพื่อรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นขนาดที่ได้ราคาดี ประมาณ 1 แสนบาทขึ้นไป แต่ต้องใช้เวลาในการทำแต่ละลำนานกว่า 10 วัน
นายหมาดโยบ กุลพ่อ หนึ่งในช่างต่อเรือรุ่นเก่า
ถ้าไม่มีงานสั่งต่อเรือเข้ามา บางทีก็ต่อเรือไว้พอมีคนต้องการก็ขายไป เวลาว่างก็ไปรับจ้างทำงานอื่นได้อีก อาทิ แกะปู ปลูกข้าวไร่ไว้กินเอง หรือหาหอยตะเภา แต่พอหมดหน้าทัวร์ ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวต้องเอาเรือขึ้นมา ทาสีกันเพรียง ถ้าไม่เอาขึ้นมาบำรุงรักษาอายุการใช้งานจะน้อยลง ก็จะมีงานเข้ามาให้ทำอีก เปลี่ยนไม้บ้าง ทาสีบ้าง ก็ได้ค่าแรงจากตรงนั้นด้วย ถ้าเป็นเรือเล็กหรือเรือประมงส่วนใหญ่เขาจะซ่อมแซมกันเองได้”นางดรุณีกล่าว

คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าริมฝั่งอันดามัน ที่ฝาก “ชีวิต โอกาส และอนาคต” ไว้กับเรือ “เรือหัวโทง” จึงไม่ได้เป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันอนุรักษ์อาชีพต่อเรือหัวโทง ศิลปะงานไม้ซึ่งใช้งานได้จริง ที่นับวันยิ่งหายาก ทั้งทนต่อการกระทบกระแทกโขดหิน จากคลื่นลมในทะเล ที่ชาวประมงหรือชาวบ้านผู้ทำมาหากินกับเรือสามารถซ่อมแซมได้เอง ให้เป็นเครื่องมือทำกิน และจุดขายการท่องเที่ยวทะเลไทยชายฝั่งอันดามันกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น