เทศบาลอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ร่วมมือกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ในสังกัดศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนิน “โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตอาหารของผู้ประกอบการในชุมชนตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม” ขึ้น ตั้งแต่กลางปี 2552 ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการชุมชนตลาดน้ำอัมพวาซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อย โดยมีเป้าหมายหลัก พัฒนาผู้ประกอบการอาหารและขนมไทยในชุมชนฯ ให้มีขีดความสามารถในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย รวมทั้งเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในท้องถิ่น และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ฯลฯ
ล่าสุดได้ระดมสมอง ในหัวข้อ “แนวคิดสร้างสรรค์ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และขนมไทย ณ ชุมชนตลาดน้ำอัมพวา” ขึ้น โดย ร้อยโทพัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ชุมชนหรือผู้ค้ารายย่อยของตลาดน้ำอัมพวา จึงควรเรียนรู้นำกระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ที่สามารถหาคำตอบและพิสูจน์ได้ มาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ( creative economy )
“ วันนี้ เราไม่ได้ต้องการให้ผู้ประกอบการตลาดน้ำอัมพวาเปลี่ยนจากผู้ค้ารายย่อยเป็นอุตสาหกรรม แต่ต้องการให้ชุมชนรู้จักหยิบความรู้ใหม่ที่เหมาะสมกับตัวเอง นำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ร่วมกับความรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ ทุนท้องถิ่นที่มีอยู่สูงอย่าง ‘อาหาร’ ซึ่งไม่มีจังหวัดใดของไทยที่มีต้นทุนด้านอาหารสูงเท่ากับจังหวัดสมุทรสงคราม” ร้อยโทพัชโรดม กล่าว
ทั้งนี้ ยอมรับว่า “ จุดอ่อนของภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มีการหาคำตอบ และไม่มีการพิสูจน์ แม้ว่าจะมีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการถนอมอาหารที่ดี แต่ไม่สามารถตอบในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ ฉะนั้น การสร้างคุณค่าให้กับสินค้า ด้วยกระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น การนำความรู้สากลมาร่วมกับความรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นจะทำให้ผู้ประกอบการเข้มแข็ง และสามารถอยู่รอดได้เพราะ‘ ชุมชน’ ไม่ใช่หิ่งห้อย หรือ ตลาดน้ำเท่านั้นแต่ต้องทำควบคู่กัน ”
นายกเทศมนตรีเทศบาลอัมพวา กล่าวอีกว่า การรับความรู้ใหม่จะทำให้ชุมชนก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยทุนท้องถิ่นที่มีอยู่หลากหลายต่อยอดไปสู่สากล และกระบวนการคิดจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการและชุมชนในท้องถิ่นเกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องและยั่งยืน นอกจากนี้การเก็บเกี่ยวความรู้ทั้งด้านกระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ และการสร้างแบรนด์ท้องถิ่น ‘ Amphawa Brand ’ ที่ภาครัฐพยายามสร้างขึ้นเพื่อนำมาใช้ประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลก ควบคู่กับการสร้างแบรนด์ผู้ค้าจะช่วยผู้ประกอบการท้องถิ่นไม่ให้ถูกนำไปแอบอ้าง ที่สำคัญจะต้องมีการถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้กับรุ่นต่อๆ ไปจึงจะยั่งยืนและแตกต่างจากตลาดน้ำอื่นๆ ที่ผุดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการรายย่อยของชุมชนตลาดน้ำอัมพวาที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องมีกว่า 400 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่มีอยู่เพียง 40 ราย ขณะที่ร้านค้าทางเรือจาก 10 ลำเพิ่มเป็น 80 ลำ ดังนั้นเพื่อให้การเปิดมุมมองรับแนวคิดใหม่นี้พัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป ทางเทศบาลอัมพวาได้ตั้งเป้าผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการฯ ไม่ต่ำกว่า 30 ราย เพื่อนำร่องขยายผลไปสู่ผู้ประกอบการอื่นๆ คาดว่า จะได้รับความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีมีบทบาทในการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสร้างเงิน สร้างงาน สร้างคุณภาพชีวิตให้กับเอสเอ็มอีไทย รวมถึงชุมชนตลาดน้ำอัมพวาที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2547 และเป็นตลาดน้ำที่มีเอกลักษณ์ มีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรม และมีวัตถุดิบที่หลากหลาย พร้อมกับมีภูมิปัญญาที่เข้มแข็ง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาเป็นจุดแข็งในการแข่งขันได้ หากได้รับการส่งเสริมที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ตลาดน้ำอัมพวายังมีโจทย์ที่สามารถนำเทคโนโลยีและวิชาการ และความรู้ด้านไอทีมาช่วยพัฒนาได้อย่างมาก ประกอบกับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเทศบาลอัมพวาที่ต้องการให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจโดยยังสามารถใหชุมชนประกอบอาชีพตามวิถีดั่งเดิมได้โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมที่ดีงาม
โครงการ iTAP ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. จึงเข้ามาร่วมกับเทศบาลอัมพวาพัฒนาผู้ประกอบการในด้านการพัฒนากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดย iTAP ได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เข้ามาช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิตให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น เช่น กรณีการพัฒนาเครื่องดื่มจากดอกไม้ “ร้านสำเนียง” , การควบคุมอุณหภูมิน้ำมันที่ใช้ทอดข้าวแต๋น “ร้านลุงแว่น” ไม่ให้แข็ง ไม่ขม และไม่มีกลิ่นหืนของน้ำมัน และการผลิตกาแฟโบราณของ “ร้านสมานการค้า”
การใช้เทคโนโลยีสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยนั้น โครงการ iTAP และผู้เชี่ยวชาญจะคัดเลือกเทคโนโลยีที่ไม่สลับซับซ้อน ทำได้ง่าย และไม่ต้องลงทุนสูงมาก เหมาะสำหรับระดับชุมชน อาทิ การถนอมอาหารด้วยวิธีพาสเจอร์ไรซ์เพื่อให้สามารถเก็บได้นานขึ้น การควบคุมและมีวิธีการที่ถูกต้องในการทอด เพื่อลดการอมน้ำมันในผลิตภัณฑ์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการผลิตที่ควบคุมความสะอาดและปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก นอกจากนี้ยังได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีเข้าไปช่วยกลุ่มผู้ประกอบการด้านโฮมสเตย์ของชุมชนตลาดน้ำอัมพวา ในการอบรมให้ความรู้ทางด้านไอที การทำโปรแกรม การทำตลาดบนอินเตอร์เน็ต และการจัดทำเว็บไซต์ โดยจะเริ่มดำเนินการระหว่างเดือน ก.พ. – ก.ย. 2553
ศ.ดร.ชัชนาถ เชื่อว่า “ รูปแบบการพัฒนาระหว่างโครงการ iTAP กับ เทศบาลอัมพวา จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ธุรกิจของชุมชนในท้องถิ่น และเมื่อทำสำเร็จจะเป็นต้นแบบในการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในระดับชุมชนได้ โดยยังคงสามารถรักษาสภาพแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมที่ดีงามไปพร้อมกัน และจะเป็นต้นแบบนำเอาไปประยุกต์ใช้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป ”
ด้านนางสำเนียง ดีสวาสดิ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากดอกไม้ตรา ‘สำเนียง’ กล่าวว่า “ จากการเข้าร่วมโครงการ iTAP ในช่วงต้นที่ผ่านมา ได้รับประโยชน์มาก นอกจากความรู้แล้วยังทำให้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ มียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว สินค้าได้รับความเชื่อถือมีการบอกกันปากต่อปาก”
จากเดิมที่ผลิตน้ำสำรองขาย อยู่ 300 ขวด มาสู่การผลิตน้ำดอกไม้ซึ่งเป็นผลจากงานวิจัยทำให้ต้องเพิ่มการผลิตขึ้นเป็น 2,000 ขวด จำหน่ายเฉพาะศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท เป็นการตอกย้ำให้เห็นได้ชัดว่ากระบวนการวิทยาศาสตร์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้จริง เพราะสามารถหาคำตอบและพิสูจน์ได้ ทำให้เกิดคุณค่าทางโภชนาการ
นางสำเนียง บอกอีกว่า “ iTAP ยังช่วยให้ตนเองหันมาใฝ่หาความรู้เพิ่มมากขึ้น การได้ไปดูงานตามที่ต่างๆ การได้รู้จักการถนอมอาหารด้วยวิธีพาสเจอร์ไรซ์นั้นทำได้ไม่ยาก รู้วิธีการใช้เครื่องมือวัดค่าน้ำตาล และนำเครื่องมือเข้ามาใช้ทุ่นแรง เช่น เครื่องอัดฝาจีบ อีกทั้งยังหันมาสนใจที่จะนำวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ตะลิงปิง , ดอกดาหลา , ดอกเข็ม , ดอกอัญชัน , ดอกกุหลาบ , ดอกบัว มาเพิ่มค่าผลิตเป็นเครื่องดื่มขึ้นชื่อให้กับตลาดน้ำอัมพวา เป็นการกระจายรายได้ให้ชุมชน”
ล่าสุด เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก ชื่อว่า “อัมพวาหอมหมื่นลี้” เป็นเครื่องดื่มจากดอกไม้ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการน้ำตาล หรือ ผู้ที่เป็นเบาหวาน สามารถรับประทานได้ เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับอย่างมากจากนักท่องเที่ยว
//////////////////////////////////
*** ข้อมูลโดย โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)โทร.02-270-1350-4 ต่อ 114,115