xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์ แนะเอสเอ็มอีรับมือเขตการค้าเสรีอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมเจรจาธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ แนะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรับมือเขตการค้าเสรีอาเซียน หลังอาเซียนกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ชี้ภาคอุตสาหกรรมสินค้าประเภทปาล์มมืมัน เมล็ดกาแฟ เป็นสินค้าอ่อนไหว ต้องพร้อมรับมือ เบื้องต้นทางกรมฯ ตั้งศูนย์ข้อมูลให้คำแนะนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอี



นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในงานสัมมนา “โอกาสทางการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับการเป็น AEC ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมฯ กับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้ความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้เข้าใจภายใต้กรอบเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา และปี 2558 จะก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี ทั้งเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีมากขึ้น

ทั้งนี้ปริมาณการค้าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดอาเซียนมีความสำคัญมากและกลายเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย นำหน้าสหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการค้าปี 2552 กว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.6 ของการส่งออกรวมของไทย ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าอาเซียนประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเกินดุล 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเชื่อว่าภายใต้กรอบอาฟต้าจะทำให้มูลค่าการค้าของไทยและกลุ่มอาเซียนปรับตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว ส่วนที่หลายฝ่ายหวั่นวิตกจะมีสินค้าหลายรายการ เช่น ปาล์มน้ำมัน เมล็ดกาแฟ และอื่น ๆ ถือว่าเข้าข่ายเป็นสินค้าอ่อนไหวก็ยังไม่มีการปรับลดภาษีทันที แต่จะทยอยปรับ รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากกรอบดังกล่าวและมีเงินกองทุนลดผลกระทบจากอาเซียน

นางนันทวัลย์ กล่าวว่า การลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ของกลุ่มอาเซียน 6 ประเทศ เช่น บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทยกว่า 8,000 รายการ และอีก 5 ปีข้างหน้า (2558) สมาชิกอาเซียนอีก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามจะลดภาษีทุกรายการเป็นร้อยละ 0 กลุ่มอาเซียนจึงได้เพิ่มกลไกยืดหยุ่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มสมาชิกมากขึ้น เช่น มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมอำนวยความสะดวกทางการค้า การรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง โดยหลังจากเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี จึงตกลงให้มีการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ผู้ส่งออกสามารถส่งสินค้าไปยังประเทศอาเซียนอื่น โดยไม่ต้องขอใบรับรอง โดยมาตรการนี้จะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2555 รวมทั้งจัดตั้งแหล่งข้อมูลอาเซียน ดังนั้น ผู้ประกอบการรายใดต้องการรับทราบข้อมูลสามารถหาข้อมูลได้ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศหรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น