xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์”ปล่อยกู้ทะลุเป้าลั่นปี 53 ลดดอกเบี้ยหนุนลูกค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เอสเอ็มอีแบงก์” โชว์ผลงานปี 52 ปล่อยกู้ทะลุเป้ากว่า 44,500 ลบ. สูงที่สุดนับแต่ก่อตั้ง พร้อมลดหนี้เน่าเหลือ 38.72% ตั้งเป้าปีหน้า สินเชื่อโต 20% และลดหนี้เน่าเหลือ 20% ระบุแผนประกบ ผปก. ใกล้ชิดช่วยฟื้นกิจการ เล็งลดดอกเบี้ย โดยระดมทุนจากในประเทศมากขึ้น

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เผยว่า ผลประกอบการของธนาคาร ณ วันที่ 18 ธ.ค.2552 มียอดอนุมัติสินเชื่อจำนวน 43,960 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเป้าที่กระทรวงการคลังไว้ให้ที่ 43,500 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 55,000 ล้านบาท และคาดว่า ถึงสิ้นปีนี้ ยอดอนุมัติสินเชื่อได้ถึง 44,500 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนับว่าสูงที่สุดในรอบ 7 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งธนาคาร และส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ 300 ล้านบาท หลังจากขาดทุนต่อเนื่องมากว่า 3 ปี นอกจากนั้น ลดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เหลือ 38.72% จากต้นปีอยู่ในระดับ 50%

ด้านนายปุณณิศร์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการบริหาร กล่าวต่อว่า ตั้งเป้าในปีหน้า (2553) เพิ่มสินเชื่อคงค้างอีก20% เป็นสินเชื่อคงค้างสุทธิ 12,000 ล้านบาท โดยเน้นลูกค้ากลุ่มธุรกิจเป้าหมายของรัฐบาล เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ และธุรกิจจากโครงการไทยเข้มแข็ง เป็นต้น

นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ปีหน้า (2553) คาดว่าหนี้ NPL จะลดเหลือ 20% จากแผนบริหารหนี้ที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปีนี้ โดยเน้นการเข้าปรับโครงสร้างหนี้ถึงตัวผู้ประกอบการโดยตรง เพื่อให้รายที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ มีศักยภาพในการชำระหนี้มากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มทุนให้ด้วย เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนี้คิดเป็นกว่า 50% ของหนี้ NPL ทั้งหมด ส่วนในรายที่ไม่มีศักยภาพในการชำระหนี้แล้ว จะ
จ้างบริษัทบริหารหนี้เข้ามาเจรจาประนอมหนี้

นอกจากนั้น กลยุทธ์การทำงานของธนาคารในปี 2553 จะเพิ่มบทบาทให้สาขาสามารถบริการครบวงจร ช่วยให้ต่อไปจะอนุมัติสินเชื่อด่วนได้ภายในไม่เกิน 45 วัน รวมถึง ปรับประสิทธิภาพการทำงานในทุกส่วนขององค์กร ซึ่งจากกลยุทธ์ดังกล่าว ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในปีหน้า เชื่อว่า จะทำให้ธนาคารล้างหนี้สะสมได้ในเวลา 2-3 ปีข้างหน้า และกลับมามีกำไรประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับแผนอีกประการหนึ่ง คือ การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารลง ให้อยู่ระดับเดียวหรือต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ โดยวิธีการลดการระดมทุนจากต่างประเทศ มาระดมทุนในประเทศมากยิ่งขึ้น จากสัดส่วนปัจจุบัน ซึ่งมีสัดส่วนการระดมทุนจากต่างประเทศ 50% และในประเทศ 50% มีต้นทุนดอกเบี้ยประมาณ 4% และในปีหน้าจะเปลี่ยนมาเป็นระดมทุนในประเทศ 70-80% ต่างประเทศเหลือ เพียง 20% ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยของธนาคารลดลง เหลือประมาณ 3.75% ช่วยให้สามารถนำไปลดอัตราดอกเบี้ยปล่อยกู้ให้ลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น