xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโมเดล Creative Economy อัด 2 หมื่น ล. ดัน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าถามว่า นโยบายอะไรของรัฐบาลที่พอพูดได้ว่า เป็นนโยบายในระดับยุทธศาสตร์จริงๆ คำตอบ ก็คือ การประกาศนำแนวคิด “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” หรือ Creative Economy มาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย

ทั้งนี้ เพราะถือได้ว่าเป็นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

แนวคิดดังกล่าว มาจากการวิเคราะห์ศักยภาพของประเทศไทยว่า ต่อไปจะมีปัญหาทั้งการแข่งขันกับประเทศที่เหนือกว่า ซึ่งมีเทคโนโลยีสูงกว่า และการแข่งขันกับประเทศที่ด้อยกว่า ซึ่งต้องมีต้นทุนต่ำกว่า

ดังนั้น ทิศทางใหม่ของประเทศไทย ต้องพัฒนาการใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปเพิ่มมูลค่าสินค้า หรือไปสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ จึงจะแข่งขันได้

นี่คือ ที่มาของนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ดูเหมือนว่าการขานรับจากแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตั้งแต่อุตสาหกรรมสินค้าที่ขายไอเดีย ขายดีไซน์ ขายนวัตกรรม จนถึงอุตสาหกรรมผลิตภาพยนต์ ผลิตแอนิเมชั่น ซึ่งจะแพ้ชนะกันที่ความคิดสร้างสรรค์ ออกมาดีและแรงทีเดียว

อาจเป็นเพราะนโนบายที่ประกาศออกมา รัฐบาลมีความชัดเจนทั้งเป้าหมาย และโครงสร้งการบริหารจัดการ

รัฐบาลประกาศว่า ใน 3 ปี จะจัดสรรงบประมาณ 20,000 ล้านบาทจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง พัฒนา 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ใน 4 กลุ่มหลัก
อลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
**โครงสร้างการบริหารจัดการจากนโยบาย สู่ปฏิบัติ**

อลงกรณ์ พลบุตร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แกนหลักในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้เปิดโมเดลการขับเคลื่อนว่า โครงสร้างในการขับเคลื่อนนโนบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะมีอยู่ 4 ส่วนหลัก

“หนึ่ง คือ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แล้วก็มีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะมีสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงไอซีที กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และกระทรวงต่างประเทศ รวมไปถึงสมาคมการค้า สมาคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ โดยมีผมเป็นกรรมการและเลขานุการ

สอง คือ มีคณะอนุกรรมการบริหารนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติโดยมีผมเป็นประธาน แล้วก็จะมีภาครัฐและเอกชน เป็นกรรมการ อันนี้ก็มีหน้าที่ในการบริหารนโยบาย

สาม คือ จะมีสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติที่เรียกว่า National Creative Economy Agency ที่จะรวบรวมหน่วยงานที่กระจัดกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ขององคาพยพของราชการ ให้มาอยู่ภายใต้โครงสร้างเดียวกันทั้งหมด

สี่ คือ กองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตรงนี้จะเป็นการสร้างโครงสร้างใหม่เพื่อที่จะให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นเอกภาพมากที่สุด

นอกจากนั้นแล้ว ในส่วนย่อยลงมา 1.จะเป็นโครงสร้างในระดับภาค จะมีคณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอิสาน และกรุงเทพมหานคร สุดท้ายก็ลงไปที่คณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับจังหวัด

นั่นคือโครงสร้างในลักษณะที่เราเรียกว่าเป็น Area Base

2.คือ เราจะมีโครงสร้างในระดับ Industry Base ซึ่งเราได้แบ่งออกเป็น 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นก็จะมีคณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของแต่ละอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยองค์ประกอบจะมีเอกชน รัฐ แล้วก็ฝ่ายวิชาการ

3.คือ โครงสร้างลักษณะที่เป็น Project Base สำหรับโครงการที่เราต้องการดึงมาในการขับเคลื่อน เช่น Creative Otop, Creative Franchise เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือโครงสร้างที่จะเป็นตัวขับเคลื่อน ยังไม่รวมถึง การประสานความร่วมมือกับกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ หรือว่าองค์การมหาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เป็นพันธมิตรในการขับเคลื่อนครั้งนี้

โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ ที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ

ก็คิดว่าจัดโครงสร้างเสร็จแล้ว กระบวนการขับเคลื่อนในครั้งนี้ น่าจะเป็นการขับเคลื่อนครั้งที่ใหญ่ที่สุด”

**เป็นยุทธศาสตร์ประเทศ ไม่ใช่แค่นโยบายรัฐบาล**

อลงกรณ์ กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่ใช่เป็นเพียงหนึ่งในนโยบายบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น แต่เป็นเสมือนแนวทางของการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศไทย โดยมีการวางแนวทางไว้ 3 อย่าง

หนึ่ง ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บรรจุนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นแกนหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11

สอง ให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นนโยบายหลักในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ และเริ่มลงมือทำทันที

และสาม คือ ให้การขับเคลื่อนครั้งนี้อยู่ภายใต้หลัก Public Private Partnership (PPP) อย่างแท้จริง

“เพราะฉะนั้นในกระบวนการขับเคลื่อนจึงได้เตรียมความพร้อมทางความคิด และความพร้อมในความร่วมมือกับภาคีต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน เราได้มีการประชุมหารือกัน สร้างความเข้าใจในเชิงของนโนบาย ในเชิงของการทำงาน

จนกระทั่งมาถึงวันที่คิกออฟ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ในวันนั้นถือเป็นปรากฏการณ์ในเชิงการบริหาร เพราะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลประกาศพันธสัญญา 12 ข้อ และอีก 2 เป้าหมายในการขับเคลื่อนนโนบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เป้าหมายข้อที่ 1. คือ ต้องการที่จะใช้นโยบายนี้ในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นฮับของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาซียน

2. คือ ต้องการให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่ม GDP ในสัดส่วนของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จาก 10% เป็น 20% ภายใน 3 ปี

เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องสร้างกลไกอย่างที่พูดมา ประกาศเลยว่าจะใช้งบประมาณ 20,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปี ภายใต้แผนไทยเข้มแข็ง เริ่มในปีงบประมาณ 2553

พร้อมกันนั้นก็กำหนดเงื่อนเวลาไว้ด้วย มีกรอบกำกับไว้เลยว่า การจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ หรือว่าการตั้งกองทุนนั้น ภายใน 6 เดือนต้องแล้วเสร็จ”

**12 พันธสัญญาของรัฐบาล ตัวกำหนดการขับเคลื่อน**

ใน 12 พันธสัญญาที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของนโนบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น อลงกรณ์ กล่าวว่า ได้แบ่งการสนับสนุนทางด้านต่างๆ ออกเป็น 4 หลักใหญ่ ได้แก่ Creative Infrastructure / Creative Education & Human Resource / Creative Society & Inspiration และ Creative Business Development & Investment

ยกตัวอย่าง Creative Education & Human Resource ซึ่งเป็นเรื่องของการวางรากฐานความรู้ความเข้าใจด้าน Creative Economy ให้กับระบบการศึกษาไทย

“ผมคิดว่าสำคัญมาก จึงได้กำหนดไว้ว่า หนึ่ง ในปีการศึกษาหน้า (2553) จะต้องมีการปรับตำราในระบบการศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นประถม มัธยม อาชีวะ อุดมศึกษา
สอง ต้องเทรนครู 500,000 คน สำหรับปีการศึกษาหน้า (2553)
และสาม คือต้องมี Creative Class 5 คาบ ต่อสัปดาห์ ด้วยวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ ไม่ใช่อ่านตำราท่องจำ หรือว่าเคี่ยวเข็ญนักเรียน ต่อไปนี้ใน Creative Class ก็จะเป็นการให้เด็กได้แสดงออกในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความสามารถ

นอกจากนั้นแล้ว ก็จะให้มี Creative Media เพราะว่าการจะให้เกิดระบบใหม่ๆ เพื่อที่จะสร้าง Creative Society ให้ได้ จำเป็นเหลือเกิน จะต้องสื่อสารข้อความข่าวสารออกไป ดังนั้นโครงการที่จะเกิดขึ้น คือ Creative Channel จะมีทีวี 1 ช่องที่รันโปรแกรมทางด้านครีเอทีฟอย่างเดียวเลย
และเราก็จะขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกแขนงให้เพิ่มแอร์ไทม์ เพิ่มพื้นที่ หรือเปิดหน้าเกี่ยวกับเรื่องของ Creative Economy อันนี้มันเป็นเรื่องของการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปแนวความคิดแห่งชาติบนพื้นฐานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์”

อลงกรณ์ ชี้ว่า แท้ที่จริงเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นระบบเศรษฐกิจที่อยู่บนปรัชญาพอเพียงแบบพึ่งพิงตนเอง เป็นการเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศจาก Industry Life Station มาสู่ Creative Economy

“หลังจากที่รัฐบาลนี้เข้ามา เราพบว่า ระบบเศรษฐกิจของเรา ขีดความสามารถทางการแข่งขัน มันเป็นปัญหา แข่งกับประเทศที่เขาไฮเทคก็ไม่ได้ เพราะเราลงทุน R&D น้อยมาก หรือเราจะแข่งกับประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า แต่แรงงานถูกกว่า หรือทรัพยากรถูกกว่า เราก็แข่งไม่ได้แล้ว

ก็ต้องหาทางเลือกสู่อนาคตของประเทศไทย วันนี้คุณต้องตัดสินใจ วันนี้คือวันของการเปลี่ยนแปลง ผมก็เลยเสนอเรื่อง Creative Economy เข้าไป ซึ่งท่านนายกฯ ก็เห็นด้วย และขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยทันที”

**เปิดพิมพ์เขียวสำนักงาน เศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ**

สำหรับโครงสร้างสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาตินั้น จะประกอบไปด้วยหน่วยงานทั้งที่เป็นส่วนราชการ ซึ่งจะมีการตราพระราชกฤษฏีกาในการเปลี่ยนมาสู่การเป็นองค์การมหาชน

รวมทั้งองค์การมหาชนหรือส่วนราชการอื่นๆ ซึ่งมีภาระกิจหน้าที่ในกรอบของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่อยู่ตามกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ก็ต้องเข้ามาอยู่ภายใต้โครงสร้างบริหารเดียวกันหมด เพื่อความเป็นเอกภาพ

“การขับเคลื่อนนโยบายนี้จะต้องขับเคลื่อนอย่างมีเอกภาพและขับเคลื่อนอย่างมีพลัง ดังนั้นเราต้องรี-ดีไซน์สำนักงานนี้ รวมไปถึงการรวบรวมหน่วยงานต่างๆ ที่กระจัดกระจาย และทำงานซ้ำซ้อนให้มาอยู่ภายใต้ โครงสร้างเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่กระทรวง ทบวง กรมไหนก็ตาม

การจะทำให้นโยบายนี้สำเร็จได้ ต้องการเครื่องยนต์ซึ่งทรงพลัง และเครื่องยนต์ซึ่งไปในทางเดียวกัน ก็ต้องใช้เชื้อเพลิง คือ ทรัพยากร งบประมาณ บุคลากร ความรู้ความสามารถในการระดมพลังอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาเหมือนเราจุดประทัดทีละดอก แต่คราวนี้เราเอาประทัดทุกดอกมารวมกันแล้วจุดทีเดียว

ในทางปฏิบัติ ก็คือ จะมีการตราพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ โดยการแปรส่วนราชการมาเป็นองค์การมหาชน หรือองค์การมหาชนที่มีอยู่แล้ว แล้วก็แก้ไขพระราชกฤษฏีกาเดิมเข้ามาสู่พระราชกฤษฏีกาใหม่ ผมคิดว่าอันนี้คือการขับเคลื่อนที่ต้องใช้เจตจำนงค์ทางการเมือง เพราะท่านนายกฯ มีวิสัยทัศน์ แล้วก็มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ไปสู่ทิศทางใหม่ในอนาคต

ดังนั้นเราจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในส่วนที่สร้างอนาคตให้เกิดขึ้นกับนโนบายนี้แบบยั่งยืน ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ไปแล้วก็เลิกกัน เพราะว่าเมื่อจัดตั้งสำนักงานนี้ขึ้นมาแล้วโดยพระราชกฤษฏีกาเราก็จะวางไว้เลยว่าภายใน 1-2 ปี ก็จะต้องเป็นองค์การมหาชนภายใต้พระราชบัญญัติ มันจะพัฒนาไปสู่ตรงนั้น

ขณะนี้ผมได้ให้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา กับทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการประชุมกันในรายละเอียด เพื่อที่จะกำหนดว่ามีส่วนราชการใดบ้างที่ต้องเข้ามาร่วมกับสำนักงานนี้ ในหลักการขณะนี้ ในเรื่องกระบวนการเทคนิคไม่มีปัญหาแล้ว ก็เหลือแต่เพียงการดีไซน์องค์กรให้มันสอดคล้องกับภาระกิจ และ12 พันธสัญญา รวมไปถึงการครอบคลุมภาระกิจงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ในขณะนี้ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต่างก็มีความกระตือรือร้นต่อการตอบสนองนโนบายนี้ ระยะเวลาในการจัดตั้ง 6 เดือน คือที่ประกาศไว้ แต่ผมคิดว่าจะทำให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ คือมีเวลาอีก 3 เดือน เพราะเราได้มีการเตรียมพร้อมมาก่อนหน้านี้แล้ว

ในระยะแรกพยายามให้เป็นองค์กรซึ่งมีความสมบูรณ์ในตัวเอง มีความกระทัดรัดในการขับเคลื่อน ดังนั้นก็จะต้องคุยระดับนโยบายกับท่านรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าหากว่าไม่ขัดข้องก็โอนหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องกับงาน Creative Economy เข้ามาเลย แต่ถ้ายังมีภาระกิจตามนโยบายของกระทรวงนั้นอยู่ ก็อาจจะเป็นระยะที่สอง”

**โครงสร้างกองทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์**

นอกจากโครงสร้างแนวทางในการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติแล้ว กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องมีความชัดเจน

“กองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้รับการออกแบบเพื่อให้ทำหน้าที่ในการสนับสนุนด้านเงินทุนแก่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยมีลักษณะเป็นกองทุนหมุนเวียนด้วย สรุปก็คือ จะมีทั้งให้เปล่า ให้ยืม และร่วมทุนกับผู้ประกอบการ

ที่ให้อยู่ในรูปกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็เพราะต้องการให้กองทุนมีความคล่องตัวมากที่สุด และตอบสนองแบบยืดหยุ่น โดยจะอยู่ภายใต้สำนักงานสร้างสรรค์เศรษฐกิจแห่งชาติ แล้วก็จะมีคณะกรรมการบริหารที่กำกับ

ทุนประเดิมในกองทุน จะมาจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 3,000-5,000 ล้านบาท

เรื่องเงินทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นั้น มันจะมีทั้งเรียกว่าเป็นครีเอทีฟ ไฟแนนซิ่ง กับ ครีเอทีฟ อินเวสเม้นท์ โดยจะมีอย่างน้อย 3 ส่วนด้วยกัน

ส่วนที่ 1 คือกองทุนที่อาจจะเกิดจากการกู้เงิน จากภาษี ซึ่งต้องมีการเติมเข้ามาในกองทุนอยู่เรื่อยๆ

ส่วนที่ 2 คือจากงบประมาณแผ่นดิน หรือในขณะนี้ก็คืองบไทยเข้มแข็ง ก็หมายความว่าโครงการของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ซึ่งผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการชุดนี้แล้ว ก็จะได้รับการสนับสนุน

และส่วนที่ 3 เรียกว่าเป็นโครงการธนาคารเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็แล้วกัน โดยเราจะทำโครงการร่วมกับทางธนาคารของรัฐ จะเป็นออมสิน SME BANK กรุงไทย เพื่อจัดวงเงินสินเชื่อเป็นการเฉพาะให้กับโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงพาณิชย์ ไม่ใช่มาเริ่มสร้าง แต่คุณมากู้เพื่อลงทุนแล้วก็ค้าขายได้เลย ทำการค้าได้เลย ส่งออกได้เลย เหมือนกับธนาคารออมสินที่มีโครงการธนาคารประชาชนให้สินเชื่อรายย่อยเป็นไมโครเครดิต สำหรับพวกหาบเร่แผงลอย”

ดูเหมือนว่าไอเดียรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์คนนี้ จะไปไกลมาก

“ความจริงยังมีอีกลักษณะหนึ่ง ก็คือ เรื่องตลาดทุน เราพูดถึงเรื่องไฟแนนซิ่งแล้ว อีกเรื่องก็คืออินเวสเม้นท์ เราได้เห็นมาว่า ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม สิ่งประดิษฐิ์ที่เราต้องการต่อยอด สร้าง Value ขึ้นมา ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ข้อต่อข้อกลางที่มันขาดหายไปก็คืออินเวสเม้นท์

มีผลการวิจัย และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์มากมายที่ไม่เกิดการลงทุน หลังจากที่เขาทำต้นแบบขึ้นมาได้แล้ว เราก็ลองทำตลาดซื้อ-ขาย ก็ยังไม่ค่อยไปได้มากเท่าไร ตลาดกลางทรัพย์สินทางปัญญาที่เราเปิดขึ้นมาไม่ค่อยเวิร์คเท่าไร รู้สึกว่ายังไม่ค่อยมีคนมาสนใจ

ก็เลยเกิดแนวคิดที่ผมให้นโยบายและมีการประชุมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปบ้างแล้ว เราอยากจะให้มีกระดานหรือห้องค้าสินค้าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สินค้าทรัพย์สินทางปัญญา ในห้องค้าเพื่อให้อินเวสเตอร์ที่ไม่ใช่พวกคิดแต่เก็งกำไร ได้มาลงทุนต่อยอดอย่างแท้จริง

เหมือนอย่างโทมัส เอดิสัน ที่คิดหลอดไฟได้ ถ้าไม่มีคนมากล้าลงทุนด้วย ก็คงยังไม่มีหลอดไฟใช้กันทุกวันนี้

เพราะฉะนั้นเราอยากได้ตลาดทุนที่แท้จริงมารองรับ คุณมาดูว่าสิ่งประดิษฐ์นี้มีศักยภาพน่าลงทุน คุณก็ไปลงทุนร่วมกับเจ้าของไอเดียได้เลย

การที่คุณมีโปรดักส์ใหม่ มีอินโนเวชั่นใหม่ คุณเข้ามาตรงนี้ได้เลย ซึ่งผมกำลังดูว่าจะทำรูปแบบที่หนึ่ง คือ เป็นตลาดการซื้อขายแต่ว่าเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้คนสนใจมากขึ้น อาจจะร่วมกับธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดทั่วประเทศ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค

สอง คือ ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดห้องค้าห้องหนึ่งขึ้นมา อาจจะไม่ได้ขึ้นกระดานแบบหลักทรัพย์ที่ซื้อขายกัน แต่มันคือการลงทุน ห้องค้าแบบนี้จะมีในต่างจังหวัดด้วย

ผมคิดว่าเราอยากเห็นสิ่งเหล่านี้ รัฐบาลหรือสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่ใช่จะทำเองทุกอย่าง เราจะใช้หลักการ PPP เป็นพันธมิตรกับภาคเอกชน ไม่ว่าในสาขาไหน หรือว่าในโครงการใด เราจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนได้ขับเคลื่อนด้วยในทิศทางเดียวกันแบบนี้

ดังนั้นในรูปแบบเวนเจอร์แคปปิตอล ถ้าสามารถทำได้ในสถาบันการเงินต่างๆ ก็จะเป็นการเพิ่มปริมาณของการขับเคลื่อนโครงการได้มากขึ้น”

**15 ธุรกิจเป้าหมาย 3 ปี อัดฉีด 2 หมื่อนล้าน **

สำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 15 สาขา ใน 4 กลุ่มหลักที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลนั้น

อลงกรณ์ กล่าวว่า ในกลุ่มแรกเป็นการนำมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) มาต่อยอดธุรกิจ ประกอบไปด้วย หัตถกรรม การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อาหารไทย และแพทย์แผนไทย
ศิลปะศาสตร์ (Arts) คือกลุ่มต่อมา ประกอบไปด้วย ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์
กลุ่มที่ 3 สื่อ (Media) ประกอบไปด้วย ภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ ถ่ายทอดภาพและกระจายเสียง และเพลง
และ4 การสร้างสรรค์ตามหน้าที่ (Functional Creation) ประกอบไปด้วย ออกแบบ แฟชั่น สถาปัตยกรรม โฆษณา และซอฟต์แวร์

การพิจารณาว่าโครงการไหนจะได้รับงบประมาณนั้น อลงกรณ์ กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการบริหารฯได้มีการประชุมและวางโครงสร้างระดับ Industry Base แล้วอนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการในแต่ละชุด ซึ่งประกอบไปด้วยภาคเอกชนเป็นหลัก ภาคราชการ และภาควิชาการเรียบร้อยแล้ว ก็จะเปิดให้นำเสนอโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนเงินทุน

“โครงการก็จะมาจากผู้ประกอบการ มาจากสมาคมเกี่ยวข้อง แต่ละอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เขาก็จะประชุมกัน คือ เราต้องการให้มาจากข้างล่าง ไม่ใช่ท็อปดาวน์ลงไป แล้วก็มาจากความต้องการอย่างแท้จริง เกาถูกที่คันที่เขาต้องการ

ยกตัวอย่าง สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ก็ไปประชุมหารือกัน เสร็จแล้วก็บอกว่า ถ้าต้องการที่จะสร้างภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดสากล เพื่อดึงอุตสาหกรรมเมืองไทยทั้งระบบขึ้น เขาเสนอโครงการว่า ขอให้รัฐลงทุนร่วมกับเขาปีละ 500 ล้านบาท เพื่อสร้างหนัง 5 เรื่อง แล้วปั้น 5 บริษัทขึ้นมาสู่อินเตอร์ฯ ซึ่งเราเห็นว่ามันเป็นไปได้ เราก็บอกว่าโอเค อันนี้เราก็รับเข้ามา ซึ่งจะประชุมพิจารณาเพื่อเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การสนับสนุนงบประมาณต่อไป

ในการพิจารณาโครงการตรงนี้ ไม่จำเป็นต้องรอการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะได้ดำเนินการเรื่องนี้มาเกือบ 2 เดือนแล้ว ร่วมกับสมาคมและองค์กรภาคเอกชน และภาควิชาการมาโดยตลอด แล้วก็โยนโจทย์ลงไปว่านโยบายรัฐบาลจะใช้งบประมาณไทยเข้มแข็งในการสนับสนุน เพราะฉะนั้นให้เสนอโครงการขึ้นมา เขาก็ไปประชุมกันในกลุ่มของสมาคมจากภาคเอกชน กลั่นกรองขึ้นมาแล้วก็มานำเสนอ

เราต้องมาดูว่าแต่ละโครงการเป็นอย่างไร ซึ่งก็เสนอกันมาทั้งหน่วยงานเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเราเน้นภาคเอกชนมาก ตอนนี้มีโครงการเสนอเข้ามา 30,000 กว่าล้านบาทแล้ว บางอันก็เข้าหลักเกณฑ์ บางอันก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ เมื่ออนุกรรมการบริหารกลั่นกรองเสร็จก็ส่งเข้ากรรมการนโยบาย หลังจากอนุมัติเสร็จแล้วก็จะเข้าคณะรัฐมนตรี โดยตอนนี้เราใช้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสำนักงานเลขาฯชั่วคราว

จะเป็นการกลั่นกรองในเบื้องต้น คือกรองจาก 30,000 กว่าล้านที่ขอเข้ามา โดยดูว่ามีโครงการใดที่เข้านโยบาย เข้ากับกรอบของแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์

โดยจะมีทั้งสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูรายละเอียด รวมทั้งภาคเอกชนด้วย ซึ่งเขาจะทำตามกรอบหลักเกณฑ์

ที่สำคัญคือเราวางระบบให้ชัดก่อน แล้วทำตามนั้น เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ช่วงปลายเดือนกันยายนก็จะเข้าประชุมอนุกรรมการบริหาร ถ้าอนุกรรมการบริหารพิจารณาแล้วว่าผ่าน ก็จะประชุมกรรมการนโยบายต้นเดือนตุลาคมต่อไป”

นี่คือโมเดลทั้งหมดของ Creative Economyนโยบายระดับยุทธศาสตร์จริงๆ ของรัฐบาล

*****************************************

******* ข้อมูลโดย นิตยสาร SMEs Today ฉบับที่ 84 ประจำเดือนตุลาคม 2552 *******

กำลังโหลดความคิดเห็น