xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันอาหารเตือนผู้บริโภคดูสลาก หวั่นสารปลอมปนน้ำส้มบรรจุขวด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันอาหารเตือนผู้บริโภค ตรวจดูฉลากให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มน้ำส้มบรรจุขวด อย่างวิเคราะห์เฉพาะในเรื่องของราคา หลังมีผู้ร้องเรียนถึงน้ำส้ม 25% ไร้มาตรฐาน กลับกลายเป็นน้ำผสมสี ชี้แม้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคมากนัก แต่ก็ไมได้ให้ประโยชน์ และคุณค่าทางโภชนาการแก่ผู้บริโภค

ดร.อมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึง เครื่องดื่มน้ำผลไม้ โดยเฉพาะน้ำส้มบรรจุขวด ที่มีการจำหน่ายตามซูเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่ หลังจากที่มีผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพน้ำส้ม ที่บนสลากระบุว่าเป็นน้ำส้ม 25% แต่เมื่อซื้อมาดื่มกลับพบว่าคุณภาพน้ำส้มกลับไม่ตรงตามที่ระบุไว้ เนื่องจากเป็นเพียงน้ำผสมสีและน้ำตาลเท่านั้น และไม่ได้มีกลิ่นของส้มแต่อย่างใด โดยเมื่อสอบถามกลับไปยังห้างดังกล่าว กลับได้รับคำตอบว่า น้ำส้มดังกล่าวทางห้างได้นำมาจำหน่ายในราคาเพียงขวดละ 3 บาทเศษ และเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างถูก การจะดูคุณภาพลูกค้าจะต้องเป็นผู้พิจารณาเอง

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทางสถาบันอาหาร ได้เสนอแนวทางเลือกซื้อน้ำส้มแก่ผู้บริโภค ว่าการเลือกน้ำส้มควรสังเกต ระบบประกันคุณภาพ เพื่อรับรองคุณภาพของสินค้า รวมทั้ง กฎ ระเบียบและมาตรฐานต่างๆ เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำผลไม้ : น้ำส้ม (มอก. 99-2517) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 214 ) พ.ศ.2543 เรื่องเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ข้อ 8 การแสดงฉลากของเครื่องดื่ม มีข้อกำหนดดังนี้ น้ำผลไม้ 100% สำหรับเครื่องดื่มที่มีหรือทำจากผลไม้ล้วน น้ำผลไม้ 100% จากน้ำผลไม้เข้มข้น สำหรับเครื่องดื่มที่ทำจากการนำผลไม้ชนิดเข้มข้นมาเจือจางด้วยน้ำ เพื่อให้มีคุณภาพหรือมาตรฐานเหมือนกับเครื่องดื่ม

“ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่พยายามลดต้นทุนการผลิตน้ำผลไม้ โดยอาศัยกลิ่นหรือรสของผลไม้ที่ได้จากการสังเคราะห์เป็นส่วนผสมหลัก เช่น น้ำตาล กรด สี เป็นต้น การปลอมปนนี้ไม่มีผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคเท่าใดนัก แต่แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของผู้ผลิต ซึ่งมีการใช้ชื่อน้ำหวานกลิ่นต่างๆ ตามที่ระบุบนฉลากตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่อง ฉลาก ข้อ 11 ที่ระบุให้ฉลากของอาหารต้องไม่ทำให้เข้าใจผิดและไม่เป็นเท็จหรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร หรือไม่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ รวมทั้งไม่แสดงถึงชื่ออาหารส่วนประกอบของอาหาร อัตราส่วนของอาหาร ปริมาณของอาหาร หรือแสดงถึงสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อ” รักษาการ ผอ.สถาบันอาหารกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น