xs
xsm
sm
md
lg

เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยกู้ 3จว.แดนใต้ ทะลุ 70ลบ.ต่อสาขาชี้ก่อสร้างสดใสรับอานิสงส์ลงทุนรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรชัย กำพลานนทวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์
เอสเอ็มอีแบงก์ เผยความคืบหน้าปล่อยกู้ 3 ชายแดนใต้ 9 เดือนเป็นตามเป้า จำนวน 70-80 ล้านบาทต่อสาขา ชี้ ธุรกิจก่อสร้างสดใส ยอดขอสินเชื่อสูงสุด เหตุจากการลงทุนสาธารณูปโภคของภาครัฐ ขณะผู้ประกอบการหน้าใหม่ลงทุนน้อยมาก พร้อมกันนี้ เตรียมขอประกันสังคมเพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท ปล่อยชะลอเลิกจ้างทะลุ 10,000 ล้านบาท

นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยถึงความคืบหน้าสถานการณ์การปล่อยกู้ของพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ทางธนาคารสามารถดำเนินการปล่อยกู้ไปได้ตามเป้าที่วางไว้ โดยผลงาน 9 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารสามารถปล่อยกู้ไปได้จำนวน 70-80 ล้านบาท ต่อสาขา เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งปีที่ผ่านมาทางธนาคารสามารถปล่อยกู้ได้เพียง 50 ล้านบาทต่อสาขา ส่วนในปีนี้ ธนาคารคาดว่าจะปล่อยกู้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ถึง 100 ล้านบาทต่อสาขา

ในส่วนของสาขาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวน 3 สาขา จังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี ธนาคารไม่ได้กำหนดเป้าไว้สูง เพียงขอให้สาขาดำเนินกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของธนาคารได้ ก็เพียงพอ ต้องยอมรับว่าการทำงานในพื้นที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสูง เจ้าหน้าที่ ธนาคารทำงานกันลำบากมาก โดยเฉพาะการลงพื้นที่เพื่อเข้าไปประเมินราคาทรัพย์สินแต่ละครั้งนั้น มีอันตรายสูงมาก ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่เราเป็นธนาคารของรัฐ จำเป็นจะต้องให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราก็ได้แต่ให้กำลังพนักงานในพื้นที่ให้สามารถทำงานได้

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ลงทุนใหม่น้อยมากแทบจะไม่มีเลย ดังนั้นผลการดำเนินงานของสาขาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สามารถทำยอดได้ขนาดนี้ทางธนาคารก็พอใจแล้ว เพราะแต่เดิมเราคาดหวังเพียงแค่ประคับประคองให้อยู่ได้ก็เพียงพอแล้ว โดยธุรกิจที่มีการเติบโต และมียอดการขอสินเชื่อมากที่สุดในขณะนี้ เป็นกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง เพราะในพื้นที่ภาคใต้มีความเสียหายจากการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหลายแห่ง ทำให้ภาครัฐบาล ต้องอัดงบประมาณ เพื่อใช้ในการซ่อมแซม สิ่งปลูกสร้าง รวมถึงงบประมาณในการก่อสร้างสาธารณูปโภคใหม่ที่รัฐบาลเข้าไปทำหลายแห่ง ทำให้ธุรกิจก่อสร้างใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นธุรกิจมีอัตราการขยายตัวมากที่สุดในช่วงนี้

ทั้งนี้ ธนาคารยังสินเชื่อแฟคเตอริ่ง เป็นสินเชื่อที่เหมาะกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เพราะเสียดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 5 ต่อปีเท่านั้น และยังมีสินเชื่อชะลอการเลิกจ้าง ที่เสียดอกเบี้ย ร้อยละ 5 ต่อปี และดอกเบี้ยคงที่เป็นระยะเวลา 5 ปี ในส่วนของสินเชื่อชะลอการเลิกจ้าง นั้นปล่อยไปแล้วประมาณ 6,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้ทำเรื่องของบเพิ่มจากประกันสังคมอีกเพื่อปล่อยกู้ให้ได้ 10,000 ล้านบาท รองรับความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งทั้งระบบจะต้องใช้เงินเป็นแสนล้านบาท ซึ่งจากเงินที่ปล่อยกู้ไปทั้งหมด 9 เดือนจำนวน 28,000 ล้านบาท สามารถชะลอการเลิกจ้างงานได้ถึง 70,000 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น