xs
xsm
sm
md
lg

นับถอยหลังประชาคมอาเซียน เอสเอ็มอีไทย ได้หรือเสีย ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในปี พ.ศ.2558 หรือเหลือเวลาอีก 6 ปี ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ร่วมกับสมาชิกอีก 9 ชาติ แน่นอนว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ย่อมทำให้ตลาดการค้าขยายตัว จากซื้อขายกันภายในประเทศของประชากร 65 ล้านคน เพิ่มเป็นกว่า 580 ล้านคน

หากเจาะจงถึงการแข่งขันที่ย่อมทวีความดุเดือดขึ้นอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับผู้ประกอบการระดับกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอีของไทยที่ความสามารถการแข่งขันด้อยกว่ารายใหญ่ทุกประการ ลำพังแข่งแค่ในประเทศให้อยู่รอดแทบจะลากเลือดเต็มที หากคู่แข่งชาติสมาชิกเพิ่มจำนวนเข้ามาอีก คำถามที่ตามมา คือ ถึงเวลานั้น เอสเอ็มอีไทยจะพร้อมเพียงใด ควรรับมืออย่างไร และแท้จริงแล้วการเปิดเสรีดังกล่าวจะเกิดดีหรือเสียมากกว่ากัน


**ชี้ปมเอสเอ็มอีด้อยความสามารถแข่งขัน

สาระสำคัญของการเปิด AEC ที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการไทย มาจากการเปิดให้ลงทุน และเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี เป็นจุดเปลี่ยนทำให้ต่อไปแรงงานเฉพาะทางของไทย เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก และนักบัญชี เป็นต้น จะออกไปทำงานต่างชาติที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน แรงงานเฉพาะทางจากประเทศในอาเซียนจะเข้ามาทำงานในไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ยิ่งบวกกับการเปิดโอกาสให้นักลงทุนอาเซียนสามารถเข้ามาจัดตั้งธุรกิจในประเทศสมาชิกอาเซียนโดยถือหุ้นข้างมากได้ ซึ่งไทยจะทยอยให้ผู้ลงทุนถือหุ้นข้างมากในธุรกิจบริการต่างๆได้ถึง 70% ทำให้ต่อไปนักลงทุนจากอาเซียนจะเข้ามาเป็นคู่แข่งขันมากขึ้น

ปัจจัยเหล่านี้ อาจส่งผลให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ปัจจุบันขาดแคลนแรงงานเฉพาะทางอยู่แล้ว ต้องประสบปัญหาหนักมากขึ้นไปอีก เพราะบุคลากรที่มีความสามารถเหล่านี้จะสนใจทำงานให้บริษัทยักษ์ใหญ่หรือบริษัทข้ามชาติมากกว่า ไม่อยากทำงานให้ธุรกิจขนาดเล็กๆ กระทบความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอีให้ด้อยลงไปอีก

นอกจากนั้น เดิมสินค้าไทยหลายชนิดที่ได้ประโยชน์ด้านภาษีหรือมาตรการส่งเสริมการค้าต่างๆ ช่วยให้ต้นทุน ถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ต่อไปความได้เปรียบดังกล่าวจะหมดไป

และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ เวลานี้ความตื่นตัวของเอสเอ็มอีไทยต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นยังอยู่ระดับต่ำ เนื่องจากธุรกิจระดับเอสเอ็มอีต้องดิ้นรนต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อให้อยู่รอดเป็นอันดับแรก ดังนั้น ความใส่ใจที่จะเตรียมพร้อมรับวิกฤตในอนาคตจึงถูกจัดอันดับเป็นปัญหารอง

สอดคล้องกับที่นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงทัศนะว่า บริษัทใหญ่เริ่มเตรียมพร้อมมา 5 ปีแล้ว ในขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้เลย เพราะยังต้องกังวลเรื่องความอยู่รอด
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
**แจงธุรกิจ เฮ – เหี่ยว หลังเปิดAEC

สำหรับธุรกิจที่มีโอกาสดีจะได้รับอานิสงส์จากการเปิด AEC คาดว่าจะเป็นกลุ่มบริการ ท่องเที่ยวและต่อเนื่อง เพราะจากข้อตกลงการค้าจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า การลงทุน และแรงงานอย่างมาก รวมถึง ประเทศไทยมีความพร้อมและเชี่ยวชาญด้านงานบริการต่างๆ เช่น ธุรกิจสปา อีกทั้ง ทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาค

นายมังกร ธนสารศิลป์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสริมว่า ประเทศไทยต้องเปลี่ยนการส่งออกผลิตภัณฑ์ มาเป็นส่งออกภาคบริการ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ข้อตกลง AEC สำหรับภาคธุรกิจบริการเป็นโอกาสที่ดีในการขยายตัวของธุรกิจกลุ่มนี้ เพราะไทยมีผู้เชี่ยวชาญอยู่มาก และมีความพร้อมพื้นฐานหลายๆ อย่าง เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ผลผลิตการเกษตร สาธารณูปโภค อัตราค่าบริการสมเหตุ สมผล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยยังมีจุดอ่อน ที่ขาดยุทธศาสตร์หลักในการผลักดันแผนอย่างชัดเจน กฎระเบียบต่างๆ ยังติดขัด ขาดการไปทำตลาดต่างประเทศ และความไม่แน่นอนทางการเมือง
นายมังกร ธนสารศิลป์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ขณะที่ สาขาธุรกิจที่คาดว่าได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปิดเสรี AEC นั้น จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมภาคการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยี หรือความสามารถเฉพาะทาง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์ยางพลาสติก เป็นต้น เพราะนอกจากไม่มีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนแล้ว ยังต้องแข่งกันด้านคุณภาพ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งประเทศที่มีความพร้อมสูงกว่าไทย ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ และมาเลเซีย จะคว้าประโยชน์ในส่วนนี้ได้สูง ทว่า ในจุดนี้ หากชาติสมาชิกอาเซียนสามารถร่วมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างแท้จริง อุปสรรคต่างๆ เหล่านี้จะหายไป เปลี่ยนเป็นความร่วมมือที่มีพลังในการขับเคลื่อนระดับโลก เช่น ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เวียดนาม ส่งมาประกอบที่เมืองไทย แล้วใช้สิงคโปร์เป็นฐานส่งออก เป็นต้น ซึ่งจะเป็นไปได้จริง ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆด้าน ทั้งความเท่าเทียมกันของเทคโนโลยี การศึกษา ขีดความสามารถของแรงงาน และความจริงใจของรัฐบาลแต่ละประเทศ


**โอกาสเอสเอ็มอีไทยบุกอาเซียน

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า การส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปยังประเทศปลายทางกลุ่มอาเซียน มีอัตราเติบโตต่อเนื่อง โดยมูลค่ารวมต่อปี (หน่วย : ล้านบาท) ประมาณ 360,769.11 แบ่งเป็นมาเลเซีย : 94,487.64 สิงคโปร์ :61,153.22 อินโดนีเซีย : 54,162.75 เวียดนาม : 52,949.77 ฟิลิปปินส์: 26,788.23 กัมพูชา : 26,515.43 ลาว : 22,472.82 พม่า :21,472.71 และบรูไน : 766.54
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW)
ทั้งนี้ เมื่อเปิดเสรี AECแล้ว จะทำให้มูลค่าการส่งออกของเอสเอ็มอีไปอาเซียน เติบโตขึ้นอีกกว่า 25% โดยสาขาที่จะได้ประโยชน์ระหว่างทย-มาเลเซีย ได้แก่ กลุ่มอาหารฮาลาล ไทย-ลาว ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ และไบโอดีเซล ไทย-เวียดนาม ได้แก่ สิ่งทอแฟชั่น ไทย-พม่า ได้แก่ อัญมณี วัสดุก่อสร้าง ไทย-ยูนาน ได้แก่ อาหารทะเล และไทย-อินโดนีเซีย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์หนัง

จุดสังเกตประการหนึ่ง เห็นได้ว่า ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในการส่งออกไปประเทศที่พื้นฐานเศรษฐกิจด้อยกว่า แต่สำหรับประเทศที่พื้นฐานเศรษฐกิจใกล้เคียง หรือเหนือกว่า อย่างเช่นสิงคโปร์ และมาเลเซีย จะได้ประโยชน์จากการไปแชร์ตลาด เปลี่ยนบทบาทจากคู่แข่งมาเป็นพันธมิตรทางการค้า

ด้านดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สินค้าที่ไทยส่งออกไปอาเซียนเพิ่มขึ้นและเกินดุลมากที่สุด คือ กลุ่มยานยนต์ และชิ้นส่วน กับกลุ่มเกษตรแปรรูป ส่วนสินค้าที่ไทยจะนำเข้ามากขึ้นจะเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบ โดยเฉพาะสินค้าปิโตรเลียม และแร่ธาตุ รวมถึงกลุ่มโรงงานอุตสากหรรมที่เกี่ยวข้องกับต้นน้ำอาจจะต้องได้รับผลกระทบ

"ในอนาคตจะมีการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศในอาเซียนที่ต้นทุนถูกกว่า ทั้งสินค้าประมงจากมาเลเซียและสิ่งทอจากอินโดนีเซีย เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรศึกษารายละเอียดรวมถึงหามาตรการตั้งรับให้ดี รวมถึงภาคแรงงานในอุตสาหกรรมต้นน้ำจะต้องถูกเลิกจ้าง หากมีการย้ายฐานการผลิตไปหาแรงงานที่ถูกกว่า" ดร.อัทธ์ ระบุ

**กระตุ้นปรับตัว รับเปิดเสรีอาเซียน

ขณะที่ ดร.ณัฐพล ยังเชื่อว่า การเปิด AEC ภาครวมจะทำให้เอสเอ็มอีไทยได้ประโยชน์มากกว่าเสีย เนื่องจากเมื่อเทียบกันในหมู่ 10 ประเทศแล้ว ไทยยังมีความขีดความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าอีกหลายประเทศ อีกทั้ง มีสิ่งอำนวยความสะดวก และพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี ทำเลที่ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางภูมิภาค ฐานการผลิตของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายยังอยู่ในเมืองไทย ขณะที่ความน่าเชื่อถือในการลงทุนยังเป็นที่ยอมรับจากต่างชาติ แม้มีความวุ่นวายต่างๆ เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม เหนือสิ่งอื่นใด ปัจจัยชี้ขาดว่า เอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์หรือไม่ ขึ้นอยู่ที่การปรับตัวเพื่อพร้อมรับการแข่งขันที่สูงขึ้นแน่นอน อันดับแรกต้องมุ่งสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ รองรับการค้าจากต่างชาติที่เพิ่มขึ้น อันดับต่อมาต้องพยายามติดตามข้อมูล ศึกษากรอบข้อตกลงต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตัวเองอย่างถี่ถ้วน อีกทั้ง เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ทั้งด้านเทคโนโลยี การผลิตและบริการ เช่น เปลี่ยนรูปแบบการขายให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จากเคยขายธรรมดามาเป็นระบบออนไลน์ มีเว็บไซต์ 2 ภาษา ขายได้ทั้งตลาดในและต่างประเทศ อีกทั้ง ต้องผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพควบคู่กับความรวดเร็ว

ในส่วนบทบาทของ สสว. พยายามช่วยเหลือด้วยการพัฒนาความพร้อมให้ผู้ประกอบการ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น SMEs Flyling Geese เป็นต้น ทว่า สิ่งที่ยังน่ากังวล คือ ขณะนี้การส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยสู่อาเซียนจากรัฐบาลยังน้อยเกินไป ส่วนมากจะเป็นแค่วางแนวนโยบายในภาครวม แต่ยังไม่มีแผนปฏิบัติการแบบลงลึ้กที่ชัดเจน

ด้านรองประธาน ส.อ.ท. แนะนำว่า ควรนำเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์มาเสริมศักยภาพการแข่งขัน อย่างภาคบริการ ต้องรู้จักเชื่อมโยงธุรกิจเข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้าน เช่น นำผลิตภัณฑ์พื้นบ้านมาปรับใช้ในธุรกิจสปา โดยมุ่งไปขยายตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

ขณะที่ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า AEC เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องใส่ใจให้มาก เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่ง AEC มีทั้งโอกาส และข้อเสียหาย คู่แข่งจะไม่ใช่คู่แข่งอีกต่อไป ทุกฝ่ายต้องหันมาทำงานร่วมกันให้ได้ สำหรับผู้ประกอบการก่อนเข้าทำการค้า ต้องศึกษาข้อมูลล่วงหน้าว่า ประเทศต่างๆ มีกฎระเบียบอย่างไร การเซ็นสัญญาแต่ละครั้ง ต้องดูว่าจะหาประโยชน์ใด หรือจะเตรียมรับมือได้อย่างไร

นอกจากนั้น หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ภาครัฐต้องลดอุปสรรคเพื่อให้ภาคเอกชนทำงานได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันภาคเอกชนต้องปฏิบัติทำตามกฎระเบียบและข้อบังคับอย่างเคร่งครัดเช่นกัน เชื่อว่าสุดท้าย ผู้ประกอบการไทยจะสร้างข้อได้เปรียบจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

กำลังโหลดความคิดเห็น