แนวคิดต่อยอดธุรกิจ โดยอาศัยพื้นฐานที่ตัวเองเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ประกอบกับนำเศษวัสดุเหลือทิ้งกลับมาใช้ให้คุ้มค่าที่สุด เป็นที่มาของเครื่องดนตรีสำหรับน้องหนู แบรนด์ “IQ Plus” รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ณ เวลานี้ ซึ่งได้รับความนิยมทั้งตลาดภายในและส่งออก ช่วยให้ธุรกิจมีฐานลูกค้า ใหม่ และลดความสูญเสียวัตถุดิบลงไปได้ นับเป็นอีกตัวอย่างของเอสเอ็มอีไทยที่ประสบความสำเร็จสวนกระแสเศรษฐกิจทรุด
จิรธร เสรีโยธิน กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทคูน มิวสิค จำกัด ผู้บุกเบิกธุรกิจดังกล่าว เล่าว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตเครื่องดนตรีเพื่อส่งออก มากว่า 30 ปี โดยเฉพาะเครื่องเคาะและตี (Percussion) มียอดขายติดอันดับต้นๆ ของโลก ภายใต้แบรนด์ “Tycoon”
และเมื่อประมาณ 1 ปีก่อน เกิดแนวคิดต่อยอดธุรกิจจากที่ผลิตเฉพาะเครื่องดนตรีผู้ใหญ่ ได้เพิ่มเติมเครื่องดนตรีสำหรับเด็กวัย 3-12 ปี ด้วยจุดเด่น แม้จะเป็นเครื่องดนตรีย่อส่วน แต่วิธีการเล่น และคุณภาพเสียงไม่แตกต่างจากเครื่องดนตรีผู้ใหญ่ อีกทั้ง ผลิตคำนึงถึงความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ไอเดียมาจากสามี ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทมาด้วยกัน และเป็นนักดนตรีด้วย มักบ่นอยู่เสมอว่า หาเครื่องดนตรีของเด็กที่เป็นเครื่องดนตรีจริงๆ ได้ยากมาก ในท้องตลาดแทบทั้งหมดผลิตจากจีน ซึ่งเหมือนแค่รูปร่าง แต่คุณภาพเสียงไม่ได้ อีกทั้งมีปัญหาความปลอดภัย จุดนี้มันทำให้เห็นโอกาสว่า เรามีความพร้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรและช่างฝีมือ ที่สำคัญในการทำเครื่องดนตรีจะมีเศษไม้และเศษหนังเหลือเยอะมาก ทำให้คิดจะนำเศษเหลือทิ้งเหล่านี้มาเพิ่มค่าทำเป็นเครื่องดนตรีเด็ก” จิรธร เล่าที่มาของเครื่องดนตรีเด็ก“IQ Plus” และเสริมต่อว่า
วัตถุประสงค์ไม่ต้องการให้สินค้าเป็นแค่ของเล่น แต่วางตำแหน่งให้เป็นอุปกรณ์เพื่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ผสมผสานระหว่างเสียงดนตรีที่มีคุณภาพ มาพร้อมกับรูปลักษณ์สวยงาม เพื่อให้เด็กๆ ได้สนุกสนานเพลิดเพลินกับการเล่น ขณะเดียวกันช่วยเสริมจินตนาการ และทักษะด้านดนตรีไปด้วย ซึ่งการผลิตทั้งหมดคำนึงถึงความปลอดภัย เช่น ประยุกต์รูปทรงเครื่องดนตรีให้ปราศจากเหลี่ยมหรือคม วัตถุดิบไม้ยางพาราผ่านกระบวนการความปลอดภัย และสีที่ใช้ไม่ปนเปื้อนสารพิษ เป็นต้น
เจ้าของธุรกิจ เผยว่า การแตกไลน์ผลิตครั้งนี้ ลงทุนน้อยมาก เพราะใช้พื้นฐานที่บริษัทมีอยู่แล้วเกือบทั้งหมด ส่วนการทำตลาด เปิดตัวในงาน BIG&BIH เมื่อปลายปีที่แล้ว (2551) เบื้องต้นผลิตสินค้าประมาณ 20 ชนิด หลังจากนั้น ช่วงต้นปี (2552) ไปออกงาน TOY Fair ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งได้ผลตอบรับด้วยดี ได้ออเดอร์สั่งต่อเนื่อง ทั้งจากยุโรป และญี่ปุ่น
จากกระแสตลาดดังกล่าว ถึงปัจจุบันเพิ่มสินค้าเป็นกว่า 200 รายการแล้ว ราคาขายตั้งแต่หลักสิบถึงหลักพันบาท โดยมีเครื่องดนตรีให้เลือกหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่อง Percussion เพราะบริษัทมีความเชี่ยวชาญ
“ในประเทศ ไม่มีคู่แข่งเลย เพราะเราเป็นผู้ผลิตรายเดียว ส่วนในตลาดส่งออก คู่แข่งสำคัญ คือ ประเทศจีน อย่างไรก็ตาม จีนมีข้อจำกัดที่สินค้ายังไม่หลากหลาย แม้ว่าจะพยายามก๊อปปี๊ของเราก็ตาม และคุณภาพเสียงก็ยังไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้ง มีปัญหาด้านความปลอดภัย ดังนั้น การทำตลาดเราจะพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ซื้อ แม้ว่าสินค้าของเราราคาจะสูงกว่าสินค้าจีนประมาณ 30% แต่เมื่อคิดถึงความปลอดภัยของเด็กๆ แล้ว ผู้ปกครองยอมที่จะจ่ายแพงกว่าได้”
“เคยมีคนถาม กลัวไหมว่า ในอนาคตจะมีคู่แข่งมาแย่งตลาด ดิฉันบอกไม่กลัว เพราะในความเป็นจริง เครื่องดนตรีเด็ก กำไรไม่มาก เทียบกับเครื่องดนตรีผู้ใหญ่แล้วกำไรน้อยกว่าถึง30% ทั้งที่กระบวนการผลิตเหมือนกันเลย ดังนั้น ถ้ารายใหม่คิดจะมาทำบ้าง ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยทั้งความเชี่ยวชาญของช่าง เครื่องจักร และวัตถุดิบ หากต้องลงทุนใหม่ คงไม่คุ้มค่า แต่ที่บริษัทเราสามารถมาจับธุรกิจนี้ได้ เพราะได้เปรียบตรงที่เป็นการต่อยอดจากธุรกิจเดิม” จิรธร อธิบาย
สำหรับแผนการทำตลาดจากนี้ จะเปิดตลาดในประเทศมากยิ่งขึ้นเนื่องจากกระแสตอบรับที่ผ่านมาดีมาก กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มโรงเรียน และสถาบันสอนดนตรีต่างๆ โดยใช้ทีมพนักงานขาย เข้าไปเสนอสินค้า และ 2.ขายตรงสู่ผู้ปกครอง ผ่านงานแฟร์ และ e-commerce
ทั้งนี้ นับแต่เปิดตัวสินค้ามาราว 1 ปี ยอดขายเครื่องดนตรีเด็ก IQ Plus เติบโตน่าพอใจ ปัจจุบัน มีสัดส่วนประมาณ 10% จากรายได้รวมของบริษัท และเชื่อว่า ในปีหน้ายอดขายจะเติบโตเพิ่มอีกกว่าเท่าตัว
*************************
โทร.0-2316-7722 หรือ www.iqplusmusic.com