xs
xsm
sm
md
lg

จี้ ผปก. อาหารไทยคว้าโอกาสทอง รับพฤติกรรมผู้บริโภคโลกเปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร
สถาบันอาหารชี้พฤติกรรมผู้บริโภคของโลกเปลี่ยนไป แนะผู้ประกอบการอาหารไทยเร่งปรับตัว ใช้นวัตกรรมและข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ผลิตสินค้าคุณภาพความปลอดภัย เมนูสุขภาพ และโครงสร้างประชากรสูงอายุ มุ่งเจาะ 5 ตลาดหลัก พร้อมระบุ 10 สินค้าเป้าหมายที่ไทยมีศักยภาพผลิตป้อนตลาดโลก

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง การสร้างคุณค่ากับอุตสาหกรรมอาหารของไทย ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย แต่ละปีไทยส่งออกสินค้าอาหารสูงถึงปีละประมาณ 700,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 1 – 2 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมการบริโภคในตลาดอาหารและเครื่องดื่มของโลกได้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งด้านการผลิตและการจำหน่าย แบ่งเป็น 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.การมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะวิกฤตการปนเปื้อนสารเมลามีนในสินค้าอาหารจากจีน ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นต่อการนำเข้าสินค้าอาหารของตลาดโลกเป็นวงกว้าง 2.การมุ่งเน้นเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะจากปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคอื่นๆ และ 3.การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร วิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่วิวัฒนาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าส่งผลให้อัตราการตายของประชากรโลกลดลง โครงสร้างประชากรกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น

จากปัจจัยทั้ง 3 สินค้าอาหารต้องปรับให้ตรงความต้องการผู้บริโภคได้ ในกลุ่มตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง 5 กลุ่ม คือ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมถึงตลาดใหม่อย่างรัสเซีย และทวีปแอฟริกา

สำหรับสินค้าเป้าหมายที่ไทยมีศักยภาพการผลิตป้อนตลาดโลกมี 10 สินค้า คือ น้ำผลไม้ ชาสมุนไพรเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากผลไม้เมืองร้อน ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง อาหารขบเคี้ยวจากแป้งข้าว อาหารทะเลแปรรูป ไก่ปรุงสุก อาหารขบเคี้ยวทานเล่นจากผลไม้ ซอสปรุงรส และผลิตภัณฑ์อาหารไทยพร้อมบริโภค

ผอ.สถาบันอาหาร ระบุต่อว่า สินค้า 10 กลุ่ม ดังกล่าว มีแนวโน้มเป็นที่นิยมในตลาดโลกในช่วง 1 - 2 ปีข้างหน้า ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในการผลิต ทั้งด้านวัตถุดิบ ภูมิปัญญาไทยหรือเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถแข่งขันได้

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ได้โดยอาศัยความได้เปรียบทั้งลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ วัตถุดิบ วัฒนธรรม หรือขนบธรรมเนียมประเพณี ประกอบการส่งเสริมนวัตกรรมการผลิต ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปผสมผสานให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่ดีมากยิ่งขึ้น จะทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเป็นที่ต้องการของตลาด

สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารของไทย ในช่วงต้นปีที่ประเมินว่าจะติดลบร้อยละ 15-20 แต่จากการประเมินใหม่ จาก 9 เดือนแรก คาดว่า ทั้งปีจะติดลบร้อยละ 8 มูลค่าส่งออกรวม 7.22 แสนล้านบาท จากปีก่อน 7.78 แสนล้านบาท ส่วนปี 2553 คาดว่า ยอดส่งออกจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น