xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำฝนฟาร์ม” จุดกระแสผลิตก๊าซจากขี้วัวแห่งแรกในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัวนมที่ถูกเลี้ย งในโรงเรือนปิดขนาดให ญ่โดยมีระบบปรับอากาศ ด้วยระบบการระเหยของน ้ำที่ให้ความเย็น
ต้นทุนสำคัญสำหรับการทำปศุสัตว์ คือ พลังงานไฟฟ้าและน้ำ โดยเฉพาะปศุสัตว์ขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการใช้ทรัพยากรเหล่านี้เป็นจำนวนมาก หากมีการใช้มากย่อมส่งผลถึงต้นทุนผลิตที่สูงตามไปด้วย การหาหนทางประหยัดทรัพยากรเหล่านี้ด้วยวิธีการต่างๆจึงเกิดขึ้น อย่าง “น้ำฝนฟาร์ม” ฟาร์มวัวนมขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ ต.แสลงพัน อ.วังม่วง จ.สระบุรี ในฐานะฟาร์มวัวนมแห่งแรกของไทยที่นำระบบบำบัดน้ำเสียมาใช้สร้างก๊าซชีวภาพผลพลอยได้จากมูลวัวมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ประโยชน์ภายในฟาร์มอย่างคุ้มค่าที่สุด
ม.ล.ประกฤติ สุขสวัส ดิ์ กรรมการผู้จัดการ หจก.น้ำฝนฟมาร์ม
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหวังของน้ำฝนฟาร์มสำหรับแนวคิดดังกล่าวจึงได้รับการสนับสนุนจาก โครงการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน(CD) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการเงินในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวนกว่า 10 ล้านบาทในโครงการการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อเป็นพลังงานทดแทนและบำบัดน้ำเสียในฟาร์มวัวนม นอกจากนี้การพัฒนาระบบบำบัดของน้ำฝนฟาร์ม ยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานอีกส่วนหนึ่ง
น้ำจากการบำบัด ถูกปล่อยออกมาชะล้างสิ่งปฏิกูลในโรงเรือน
หม่อมหลวงประกฤติ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดน้ำฝนฟาร์ม กล่าวว่า ปัจจุบันฟาร์มมีปริมาณวัวนมมากกว่า 5,000 ตัว ทำให้มีน้ำเสียจากกระบวนการเลี้ยง 500 - 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่ระบบบำบัดน้ำเสียอย่างง่ายแบบบ่อที่สร้างขึ้นในตอนเริ่มกิจการที่มีบ่อหมักและระบบเติมอากาศ สามารถรองรับน้ำเสียได้เพียง 100-200 ลูกบาศก์เมตรต่อวันเท่านั้น
ภาพลำดับการบำบัดของเสียในฟาร์มนำกลับมาใช้ใหม่
ดังนั้น หจก.น้ำฝนฟาร์มจึงต้องการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้เป็นระบบ Medium Channel Digester - Upflow Anaerobic Sludge Blanket (MC-UASB) ซึ่งใช้เทคโนโลยีบ่อหมักราง (Channel Digester) ร่วมกับระบบ UASB เพื่อให้ประสิทธิภาพการบำบัดสูงขึ้น เนื่องจากได้ออกแบบให้มีการกวนผสมและการหมุนเวียนของเชื้อแบคทีเรียดีขึ้นและมีการเดินระบบง่ายขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาในการดูแลในขั้นตอนเดียวและยังลดพื้นที่ ราคาค่าก่อสร้างและอุปกรณ์บางอย่างที่ต้องใช้ในระบบการก่อสร้างแบบแยกกันลงกว่าเดิมด้วย อีกทั้งยังสามารถนำก๊าซชีวภาพที่ได้จากระบบไปใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ในฟาร์มทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้อีกด้วย
บ่อบำบัดน้ำเสียที่พัฒนาขึ้นภายใต้การสนับสนุนจาก สวทช.
กรรมการผู้จัดการ หจก.น้ำฝนฟาร์ม กล่าวว่า จากการศึกษาในเบื้องต้นร่วมกับสถานเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า หากทางฟาร์มปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียเป็นระบบ UASB นั้นจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ปริมาณสูงถึงประมาณ 1,800 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือประมาณ 657,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี (คิดที่ค่าสัดส่วนของ COD ( COD = ค่าความต้องการออกซิเจนของน้ำทิ้ง) ที่ย่อยสลายได้ในช่วงประมาณร้อยละ 85 ของ COD ทั้งหมด) โดยมีค่า COD ที่ผ่านระบบก๊าซชีวภาพแล้วน้อยกว่า 3,000 มิลลิกรัม/ลิตร ทำให้ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 985,500 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,956,500บาท/ปี ( คิดเฉลี่ยที่อัตราค่าไฟฟ้า 3 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
กระแสไฟฟ้าในโรงรีดนมและโรงเรือน
ระบบก๊าซชีวภาพที่จะใช้สำหรับฟาร์มวัวนมแห่งนี้ ยังติดตั้งอุปกรณ์การกวนผสมภายในบ่อโดยใช้ก๊าซชีวภาพที่ผลิตขึ้นมาเป็นองค์ประกอบหลักในการกวน รวมถึงการหมุนเวียนเชื้อจุลินทรีย์ที่ระบายออกนอกระบบหมุนเวียนกลับมายังระบบใหม่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบอีกทางหนึ่งด้วย

ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพ รวมทั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจากผลการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าในด้านการบำบัดน้ำเสีย สามารถกำจัด COD ได้ประมาณ 60 % ด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ทดแทนภายในฟาร์มระหว่างเดือน มิถุนายน – ธันวาคม 2551 พบว่าสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน ถือเป็นฟาร์มวัวนมเพียงแห่งเดียวของไทยที่ทำได้ในฐานะการเลี้ยงวัวนมแบบฟาร์มปิด
เครื่องปั่นกระแสไฟฟ้า
ล่าสุด ฟาร์มวัวนมแห่งนี้ยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 80 กิโลวัตต์/ชั่วโมง เมื่อเดินเครื่องผลิต 12 ชั่วโมง/วัน จะประหยัดไฟฟ้าลงได้ถึง 50,000 บาท (คิดเป็น 15%ของไฟฟ้าที่ใช้ในฟาร์มทั้งหมด) และยังสามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้นอีกหากเดินเครื่องอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 1 แสนบาท/เดือน แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตก๊าซฯ มากขึ้นตามเป้าหมาย ซึ่งนอกจากจะนำมาใช้ในฟาร์มทั้งหมดแล้วยังมีแนวคิดที่จะขายไฟฟ้าส่งออก ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบให้ครอบคลุมและมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อการเดินเครื่องปั่นไฟ 24 ชั่วโมง

จากการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียครั้งนี้ แม้จะยังไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เต็มระบบ แต่ล่าสุดได้รับความสนใจจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนม สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ( Vina Milk ) เข้ามาศึกษาดูงานและขอให้น้ำฝนฟาร์มเข้าไปช่วยออกแบบ และพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียให้กับฟาร์มต้นแบบของเวียดนามในฐานะที่เป็นฟาร์มวัวนมที่เลี้ยงในโรงเรือนแห่งแรกของไทยที่พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพได้สำเร็จ
แท้งค์เก็บน้ำ
นอกจากนี้ ด้วยความมุ่งมั่นของน้ำฝนฟาร์มที่จะนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในโรงเรือนเลี้ยงวัว ยังได้การสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) จัดส่งผู้เชี่ยวชาญเทคนิคเฉพาะด้านเข้ามาเป็นที่ปรึกษาใน “โครงการการศึกษาและประเมินประสิทธิภาพของระบบปรับอากาศด้วยระบบการระเหยของน้ำในโรงเรือนปิดขนาดใหญ่สำหรับโคนมที่เลี้ยงภายใต้สภาพอากาศแบบร้อนชื้น” ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการฯ
ขณะกำลังรีดนมวัว
หจก.น้ำฝนฟาร์ม จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของความตั้งใจในการใช้ทรัพยากรน้ำและไฟฟ้าอย่างคุ้มค่าที่สุดเพื่อจัดการน้ำเสียโดยใช้ระบบก๊าซชีวภาพมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนควบคู่ไปกับการควบคุมสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน ปัจจุบันฟาร์มวัวนมแห่งนี้จึงยังคงมุ่งมั่นทำงานวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

-----------------------------------------------------------------------

ขอบคุณ : ข้อมูลโดย โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
กำลังโหลดความคิดเห็น