xs
xsm
sm
md
lg

เอสเอ็มอีไทยได้เฮ! รัฐอนุมัติปล่อยสินเชื่อเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมช.คลัง เผย จากวิกฤตเศรษฐกิจกระทบการลงทุน ยอดขายลดลง 20-40% ทำให้ภาครัฐต้องอนุมัติการปล่อยสินเชื่อเพิ่มอีก 3 แสน 5 หมื่นล้าน ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ 7 แห่ง รวมถึง เอสเอ็มอีแบงก์ พร้อมเงื่อนไขปล่อยเร็ว ไม่เป็น NPL ด้านก.คลัง เตรียมเสนอผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้น้อยลง พร้อมเสนอคืนเงินต้นเป็นการชั่วคราว ให้รายที่ไม่เป็น NPL ที่เข้าร่วมโครงการไทยเข้มแข็ง

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายในงานสัมมนา “SMEs Survival : ฟื้นเศรษฐกิจชาติด้วยพลังเอสเอ็มอี” ว่า จากการที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านธนาคารของรัฐบาล จำนวน 7 แห่งที่ผ่านมา รัฐได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคเอกชน จำนวน 8 แสนล้านบาท แต่เนื่องจากประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ จึงลดลงเหลือ 6 แสนกว่าล้าน ซึ่งสถาบันการเงินทั้งหมดได้ปล่อยไปได้ 60% คือประมาณ 4 แสนล้านบาท และเนื่องจากขณะนี้ ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ไม่มีการลงทุนของภาคเอกชน ยอดขายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลดลง 20-40% ทุกอย่างหยุดการเคลื่อนไหว และรัฐบาลมองว่าภาครัฐจะเป็นกลไกเครื่องจักรเดียวที่เหลืออยู่ที่จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ในช่วงนี้ จึงได้อนุมัติการปล่อยสินเชื่อให้แก่สถาบันการเงินของภาครัฐ อีก 3แสน.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อลงไปในระบบให้รวดเร็วที่สุดไม่เกินสิ้นปีนี้ โดยกระทรวงการคลังได้รับมอบหมายผลักดันการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและนโยบายของภาครัฐ ซึ่งความยากของการปล่อยสินเชื่อในครั้งนี้ คือต้องปล่อยเร็ว และ ต้องระมัดระวังเรื่องของ NPL รวมถึงการปล่อยสินเชื่อที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง

สำหรับเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อในครั้งนี้ทางกระทรวงฯ ได้มีการพิจารณาในหลายประเด็น อาทิ การลดเงื่อนไขในการค้ำประกันวงเงินสินเชื่อ ให้น้อยลง รวมถึงการพักชำระหนี้ หรือ คืนเงินต้นเป็นการชั่วคราว แต่ต้องเป็นรายที่ไม่เป็น NPL และผู้ประกอบการรายนั้นจะต้องเข้าร่วมโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม ไม่เกิน วันที่ 1สิงหาคมนี้ โดยมีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมพิจารณาในครั้งนี้ ส่วนแนวทางการลดดอกเบี้ยคงจะเป็นเรื่องยาก เพราะรัฐจะต้องใช้เงินอุดหนุนจำนวนมากและยุ่งยากในการทำงาน

ในส่วนของสถาบันการเงินของภาครัฐ ทั้ง 7 แห่ง จะทำหน้าที่รับผิดชอบลูกค้าของตนเอง เช่น ในส่วนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รับผิดชอบการปลอ่ยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ปล่อยสินเชื่อกู้บ้านให้กับข้าราชการที่มีรายได้น้อย ธนาคารออมสิน มีแผนจะเพิ่มวงเงินสินเชื่อเพื่อปล่อยให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่มากขี้น รวมถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปล่อยสินเชื่อ ได้วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยกู้กับเกษตรกร ในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ตามฤดูกาล และมีธนาคารกรุงไทย ซึ่งการปล่อยสินค้า 3 แสน 5 หมื่นล้านนี้ จะปล่อยได้ไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้

ส่วนนโยบายในการให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอีของรัฐบาลชุดนี้ 7 มาตรการ คือ 1.เพิ่มเพดานวงเงินพึ่งประเมิน 1.2 ล้านบาท เป็น 1.8ล้านบาท ในปี 2552 – 2553 2. ให้สิทธิประโยชน์ภาษีในการร่วมทุน 3. มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่อ บสย.ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 3 หมื่นล้านบาท 4. อนุมัติการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารรัฐ 6 หมื่นล้านบาท 5.และปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีประกอบธุรกิจท่องเที่ยว 5 พันล้านบาท 6.นโยบายคืนเงินต้นเป็นการชั่วคราว 7.สร้างผู้ประกอบการผลักดันเป็นไปตามนโยบายของรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น