xs
xsm
sm
md
lg

ไข้หวัด 2009 แพร่เชื้อ ฉุดดัชนีเชื่อมั่น SMEs หด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภักดิ์ ทองส้ม
สสว. เผยดัชนีเชื่อมั่น SMEs ประจำเดือนพฤษภาคม ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 40.2 โดยมีธุรกิจภาคบริการเป็นกลุ่มหลักที่ฉุดค่าดัชนีลด ผลกระทบจากเศรษฐกิจยังชะลอตัว และราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ฯ ส่งผลต่อการท่องเที่ยว

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ภาคการค้าและบริการ ประจำเดือนพฤษภาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2552 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 40.2 จากระดับ 40.4 โดยมีภาคธุรกิจบริการเป็นกลุ่มเดียวที่ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 39.8 จากระดับ 41.1 ขณะที่ภาคการค้าส่ง และภาคการค้าปลีก ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 41.2 และ 40.2 จากระดับ 40.1 และ 39.8 ส่วนความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 31.6 จากระดับ 32.1 ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 27.0 จาก 24.4

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนีในเดือนพฤษภาคมลดลง มาจากการลดลงของระดับความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคบริการเป็นหลัก ซึ่งกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งน้ำมันแพงขึ้น นอกจากนี้ยังมีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และโรคชิคุนกุนยาในภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว

โดยเมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ภาคบริการ กิจการบริการด้านการขนส่ง มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 35.8 จากระดับ 41.1 (ลดลง 5.2) เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว และราคา น้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าเกษตร มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 42.1 จากระดับ 43.8 (ลดลง 1.7) เนื่องจากปริมาณผลผลิตและระดับราคาสินค้าเกษตรลดลง

ส่วนภาคการค้าปลีก กิจการสถานีบริการน้ำมัน มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 36.7 จากระดับ 40.1 (ลดลง 3.4)

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 41.6 จากระดับ 41.1 และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 42.8 40.7 และ 42.1 จากระดับ 42.4 40.4 และ 41.3 ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ และต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 36.7 และ 32.1 จากระดับ 30.3 และ 30.6 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นทั้งในปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก และส่วนใหญ่เห็นว่าปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อกิจการในระดับสูงที่สุด ได้แก่ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจประเทศ และอำนาจซื้อของประชาชน รองลงมา ได้แก่ ภาวะการแข่งขันในตลาด การหดตัวของความต้องการสินค้าและบริการ ต้นทุนสินค้าและค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากราคาน้ำมันและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ฯลฯ

ทว่า ผู้ประกอบการยังเชื่อว่าผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะที่ 2 ที่จะเน้นการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีและยั่งยืนมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น