สสว. เผยดัชนีเชื่อมั่น SMEs เดือน มี.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 41.6 ธุรกิจค้าส่งอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีก และขนส่ง เพิ่มสูงสุด แจงอานิสงส์มาตรการกระตุ้น ศก. ภาครัฐเข้าสู่ระบบและใกล้ช่วงเทศกาลสงกรานต์
นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า ดัชนีเชื่อมั่น SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 41.6 จากระดับ 37.8 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 41.7 40.5 และ 42.7 จากระดับ 38.0 36.9 และ 38.7 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ และต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 22.1 และ 34.7 จากระดับ 17.9 และ 25.0 ตามลำดับ
สาเหตุสำคัญมาจากการที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เริ่มมีเม็ดเงินงบประมาณกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเป็นช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ ช่วยให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น มีการขนส่งสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และมีการวางแผนการเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้มียอดจองเพื่อใช้บริการขนส่งเพิ่มมากขึ้น
เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ภาคการค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 44.6 จากระดับ 37.0 (เพิ่มขึ้น 7.6) ภาคการค้าปลีก ร้านค้าปลีก (สมัยใหม่) ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 40.4 จากระดับ 35.3 (เพิ่มขึ้น 5.1) และภาคบริการ กิจการด้านการขนส่ง ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 41.9 จากระดับ 34.3 (เพิ่มขึ้น 7.6)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ลดลงอยู่ที่ 43.5 จากระดับ 43.9 และเป็นการลดลงทุกประเภทกิจการ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 44.6 42.4 และ 44.1 จากระดับ 46.1 42.8 และ 44.3 ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ และต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 30.4 และ 32.9 จากระดับ 34.0 และ 36.2 ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลที่สุด ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจประเทศและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สถานการณ์ทางการเมือง และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
ส่วนดัชนีเชื่อมั่น SMEs รวมภาคการค้าและบริการรายภูมิภาค 5 ภูมิภาค ในเดือนมีนาคมเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้น โดยภาคใต้ เป็นภูมิภาคที่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 51.2 จากระดับ 43.3 (เพิ่มขึ้น 7.9) รองลงมาคือ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 39.0 จากระดับ 32.4 (เพิ่มขึ้น 6.5) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 42.3 จากระดับ 37.6 (เพิ่มขึ้น 4.7) และภาคเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 41.0 จากระดับ 40.6 (เพิ่มขึ้น 0.4) มีเพียง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ภูมิภาคเดียวที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 28.4 จากระดับ 33.1 (ลดลง 4.7)
นายภักดิ์ เปิดเผยต่อถึงดัชนีเขื่อมั่น SMEs ไตรมาส 1/2552 ว่า จากการเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/2551 พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวลดลงทั้งในปัจจุบันและคาดการณ์ไตรมาสหน้า โดยอยู่ที่ 40.8 และ 44.0 จากระดับ 43.4 และ 46.9 (ลดลง 2.6 และ 3.0) ตามลำดับ ซึ่งเป็นการลดลงในทุกประเภทกิจการ ส่วนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ และความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันอยู่ที่ 21.5 และ 31.1 จากระดับ 22.1 และ 39.2 (ลดลง 0.6 และ 8.1) ตามลำดับ
โดยค่าดัชนีที่ปรับตัวลดลงนี้ มีผลมาจากในช่วงไตรมาส 1 ยังคงมีปัจจัยลบด้านต่างๆ ที่ต่อเนื่องมาจากไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ทั้งปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ผลจากการหมดอายุโครงการ 6 มาตรการ 6 เดือน และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการรวมทั้งค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น
“ค่าดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า และคาดการณ์ไตรมาสหน้า ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก โดยผู้ประกอบการในทุกภาคธุรกิจยังคงกังวลกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ การเมือง และต้นทุนการประกอบกิจการซึ่งมีผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นหลักในระยะนี้” นายภักดิ์ กล่าว