xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองนิ่ง หนุนเชื่อมั่น SMEs เดือน ธ.ค. ขยับขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
เผยการเมืองเริ่มนิ่ง ประกอบกับเทศกาลปีใหม่ หนุนดัชนีเชื่อมั่น SMEs เดือนธันวาคม และไตรมาส 4/2551 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 44.4 และ 43.4 โดยมีกิจการค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค ครองแชมป์ดัชนีเพิ่มขึ้นสูงสุด รองลงมาคือร้านค้าปลีกสมัยใหม่

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนธันวาคม 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 44.4 จากระดับ 42.5 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกประเภทกิจการ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 44.0 44.5 และ 44.5 จากระดับ 42.4 41.8 และ 43.1 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศ และธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 20.8 และ 39.3 จากระดับ 17.2 และ 36.0 ตามลำดับ

“จากผลการสำรวจพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ค่าดัชนีในเดือนธันวาคม 2551 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลาย มีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จเรียบร้อย ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ซึ่งประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนจากค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกประเภทกิจการ โดยมีกลุ่มค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นสูงสุด อยู่ที่ระดับ 48.5 จาก 42.0 (เพิ่มขึ้น 6.5) รองลงมาคือ บริการ Digital Content เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 39.2 จาก 33.3 (เพิ่มขึ้น 5.8) และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 45.2 จาก 39.9 (เพิ่มขึ้น 5.3)” นายภักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้แม้ว่าเกือบทุกสาขาธุรกิจจะมีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาในแต่ละประเภทกิจการ พบว่าบางสาขาธุรกิจยังคงมีค่าดัชนีปรับตัวลดลง โดยภาคการค้าส่ง กิจการค้าส่งวัสดุก่อสร้าง มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุด อยู่ที่ 40.2 จากระดับ 43.0 (ลดลง 2.8) ภาคการค้าปลีก กิจการสถานีบริการน้ำมัน ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 47.1 จาก 47.9 (ลดลง 0.9) ส่วนภาคบริการ กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเภทกิจการที่ทำการสำรวจ โดยอยู่ที่ 39.9 จาก 43.2 (ลดลง 3.4) โดยสาเหตุสำคัญมาจากสัญญาณชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ

ที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงสถานการณ์การปลดคนงานในกิจการต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าของกิจการในสาขาธุรกิจต่างๆ ลดลง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวลดลง อยู่ที่ 46.2 จากระดับ 47.7 (ลดลง 1.5) และเป็นการลดลงเกือบทุกประเภทกิจการ โดยภาคการค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 45.8 แล 46.1 จากระดับ 47.6 และ 47.9 ขณะที่ภาคการค้าส่งดัชนีทรงตัวอยู่ที่ 47.6

สำหรับดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการรายภูมิภาค 5 ภูมิภาค ในเดือนธันวาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีวันหยุดติดต่อกันทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวรวมทั้งเดินทางกลับภูมิลำเนาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคมีความคึกคักขึ้น โดยภาคใต้ เป็นภูมิภาคที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 54.3 จากระดับ 45.6 (เพิ่มขึ้น 8.7) รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 42.4 จากระดับ 39.8 (เพิ่มขึ้น 2.6) และภาคเหนือ อยู่ที่ 47.2 จากระดับ 45.9 (เพิ่มขึ้น 1.4) ขณะที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุด อยู่ที่ 37.8 จากระดับ 42.6 (ลดลง 4.9) และกรุงเทพฯ ปริมณฑล ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 36.4 จากระดับ 37.3 (ลดลง 0.9)

นายภักดิ์ เปิดเผยต่อถึงดัชนี TSSI SMEs ไตรมาส 4/2551 ว่า จากการเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2551 พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในปัจจุบันและไตรมาสหน้า โดยอยู่ที่ 43.4 และ 46.9 จากระดับ 40.2 และ 45.3 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกประเภทกิจการ โดยมีผลมาจากองค์ประกอบด้านต้นทุน เนื่องจากผู้ประกอบการมีต้นทุนที่ลดลงอันเนื่องมาจากระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่วนความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 39.2 จากระดับ 37.6 ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 22.1 จากระดับ 29.4

อย่างไรก็ตามค่าดัชนีความเชื่อมั่นในทุกภาคธุรกิจยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก เนื่องจากค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าฐานในทุกภาคธุรกิจ โดยปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการ SMEs ให้ความเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจทั้งในปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าในระดับสูง ได้แก่ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และอำนาจซื้อของประชาชน รองลงมาคือ ภาวะการแข่งขันในตลาด การหดตัวของความต้องการสินค้าและบริการ รวมถึงราคาต้นทุนสินค้าและค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ได้มีการคาดการณ์ไตรมาส 1/2552 พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นในทุกภาคธุรกิจ จะยังทรงตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 4/2551 เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเมืองซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น