xs
xsm
sm
md
lg

สสว. นำร่องโลจิสติกส์คู่แฝด ไทย-กวางโจว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว. จับมือ กพร. และ ม.หัวเฉียวฯ สัมมนา “ทิศทาง และการเตรียมความพร้อมเพื่อการจัดตั้งศูนย์กลางโลจิสติกส์แฝดโลก : ไทย-กวางโจว” หวังสร้างความรู้ความเข้าใจ และเตรียมพร้อมเพื่อขยายตลาดการค้าการลงทุนไทย-จีน พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการร่วมกิจกรรม Road Show ศึกษาดูงานศูนย์โลจิสติกส์ ณ นครกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงหาคมนี้

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายในงานสัมมนา “ทิศทางการเตรียมความพร้อมเพื่อการจัดตั้งศูนย์กลางโลจิสติกส์แฝดโลก : ไทย-กวางโจว” ว่า โครงการนี้เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เพราะเห็นว่าประเทศจีนมีความน่าสนใจในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศไทย ปัจจุบันจีนมีปริมาณการขนถ่ายสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก หรือมากกว่า 50 ล้านตู้ต่อปี และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

เมื่อพิจารณาถึงโอกาสความร่วมมือที่จีนจะมีในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยนับว่ามีสถานะได้เปรียบ เพราะเป็นประเทศเดียวที่อยู่ในทุกกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจภูมิภาค ประกอบกับมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสาร และการคมนาคม จึงส่งผลให้ไทยได้รับความสนใจจากจีนในฐานะศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียน ขณะที่จีนก็กำลังกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับโลก ดันนั้นการจัดสัมมนาในวันนี้รวมทั้งกิจกรรม Road Show ที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม จึงจะเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้ขยายธุรกิจด้านโลจิสติกส์และ SMEs ให้พัฒนาเชื่อมโยงกับจีนในอนาคตต่อไป

ด้านนายไพโรจน์ สัญญะเดชากุล อธิบดีกรมอตุสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า การจัดการโลจิสติกส์ทั้งภายในและภาคนอกองค์กร นับเป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินการผลักดันและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อุตสาหกรรม 4 ด้าน ได้แก่ การเชื่อมโยงระหว่างองค์กรตลอดโซ่อุปทาน การปรับปรุงประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภายในองค์กร การพัฒนาขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ และการสร้างปัจจัยเอื้อเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้อุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะต้นและระยะกลางรวม 13 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อาหาร น้ำตาลทราย ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยา เหมืองแร่ เซรามิก หัตถอุตสาหกรรม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปิโตรเคมีและพลาสติก ผลิตภัณฑ์จากยางพารา และของเสียและวัสดุเหลือใช้ เพื่อให้เกิดการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่ม สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้นับเป็นอีกโอกาสหนึ่งของการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อดำเนินกิจกรรมสร้างองค์ความรู้การพัฒนาส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงตลอดโซ่อุปทานของกลุ่มอุตสาหกรรม ด้วยกลไกความร่วมมือในการพัฒนาศูนย์กลางโลจิสติกส์แฝด : ไทย-กวางโจว

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ร่วมในกรอบเหลี่ยมเศรษฐกิจทั้ง 5 กรอบ ได้แก่ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (IMT-GT) สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (Upper Meakong Economic Cooperation หรือ UMEC) ห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจ (ACMEC) หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ (GMS) และเจ็ดเหลี่ยมเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ดังนั้นประเทศไทยจึงที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน และมีโอกาสที่จะถูกคัดเลือก ให้เป็นประตูการค้า การขนส่ง และโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงสินค้าและบริการสู่ประเทศต่างๆ ในเอเซียอาคเนย์

ด้วยเหตุนี้ สสว. จึงได้ร่วมกับ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จัดงานสัมมนา การรายงานสถานการณ์และเตือนภัย SMEs รายสาขา หัวข้อ “ทิศทาง และการเตรียมความพร้อมเพื่อการจัดตั้งศูนย์กลางโลจิสติกส์แฝดโลก : ไทย-กวางโจว” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในสถานการณ์ บทบาทและความสำคัญทางการค้าและการลงทุนไทย-จีน และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงระหว่างกวางโจวและภาคตะวันออกของไทย ตามกิจกรรม Capacity Building Fund : Win for ASEAN Market อาทิ การจัดกิจกรรม Road Shows พร้อมด้วยการจัดทำ Business Matching ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับจีน ฯลฯ

ในส่วนของกิจกรรม Road Show กำหนดจะศึกษาดูงานศูนย์โลจิสติกส์ ณ นครกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ประมาณเดือนสิงหาคม 2552 โดยมีนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสหกรรม เป็นหัวหน้าคณะ และจะมีการลงนามความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนไทย-กวางโจว ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ขยายธุรกิจด้านโลจิสติกส์ และ SMEs ให้พัฒนาเชื่อมโยงกัน นำไปสู่การสร้างแนวทางความร่วมมือและการจับคู่พันธมิตรธุรกิจการค้าระหว่างไทยและจีน ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น