เชียงราย - ชาวบ้านรอบพื้นที่เป้าหมายก่อตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล : พลังงานแกลบ รวมตัวนำแบบฟอร์มแสดงความเห็นคัดค้านโครงการจาก 12 ชุมชนทั่วตำบลปักหลักชุมนุมหน้าอุตสาหกรรมจังหวัดฯ แสดงเจตนารมณ์คัดค้านโครงการเจ้าปัญหาจนถึงที่สุด แฉพิรุธส่งแบบสอบถามให้ประชาชนหมู่บ้านละ 1 ฉบับ ทั้งที่มีประชากรมากกว่า 6 พันคน (12 หมู่บ้าน) จนชาวบ้านต้องลงทุนถ่ายสำเนาแจกจ่ายเอง
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าวันนี้ (25 พ.ค.) กลุ่มชาวบ้านจากพื้นที่ 12 หมู่บ้านในพื้นที่ ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ประมาณ 1,000 คน ได้พากันไปชุมนุมที่หน้าสำนักงานอุตสาหกรรม จ.เชียงราย ติดชุมชนเกาะลอย เทศบาลนครเชียงราย อ.เมือง เพื่อเรียกร้องให้นายเรืองศักดิ์ โฆษะครรชิต อุตสาหกรรม จ.เชียงราย ได้ออกมารับรองหนังสือ “แบบฟอร์มข้อโต้แย้ง/ข้อเสนอ” เกี่ยวกับการขออนุญาตก่อนสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลหรือพลังงานจากแกลบข้าว ของบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ซึ่งได้ขออนุญาตไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอก่อสร้างบนพื้นที่ 78 ไร่ เขตหมู่บ้านไตรแก้ว สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ เนื่องจากชาวบ้านเห็นว่าการแจกจ่ายแบบฟอร์มดังกล่าวไปยังประชาชนไม่โปร่งใส และหวั่นเกรงว่าจะมีการแอบอนุญาตให้มีการจัดตั้งโรงงานดังกล่าว โดยไม่ได้ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งรับฟังความเห็นชาวบ้านอย่างโปร่งใสเสียก่อน
กลุ่มชาวบ้านซึ่งนำโดยนายสวัสดิ์ สายสุจินะกุล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เวียงเหนือ, นายสมยล สมณะ กำนัน ต.เวียงเหนือ ได้นำเอกสารสำเนาแบบฟอร์มข้อโต้แย้ง/ข้อเสนอ จำนวนประมาณ 3,000 ชุด ใส่ถุงตั้งโต๊ะไว้หน้าสำนักงานอุตสาหกรรม จ.เชียงราย เพื่อขอให้นายเรืองศักดิ์ ไปลงนามรับรอง พร้อมกันนี้เรียกร้องให้ความชัดเจนเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงงานดังกล่าว เพราะชาวบ้านเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อพวกเขา
นอกจากนี้ยังได้นำพวงหรีดระบุชื่อนายสันต์ ศรียา อดีตนายก อบต.เวียงเหนือ และรายชื่อบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ไปผูกกับรั้วสำนักงานพร้อมจุดธูปสาปแช่ง โดยกล่าวหาว่า เป็นผู้นำโรงงานไปตั้งในพื้นที่ด้วย
นายสวัสดิ์กล่าวว่า เดิมมีการนำแบบฟอร์มข้อโต้แย้ง/ข้อเสนอจัดส่งไปให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ต.เวียงเหนือ เพื่อให้ลงความเห็น แต่ปรากฏว่าชาวบ้านไม่ได้เห็นแบบฟอร์มดังกล่าวเลย ทั้งๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวบ้าน เมื่อตรวจสอบข้อมูลก็พบว่ามีการประกาศให้ชาวบ้านทราบในขณะที่แต่ละคนออกไปเกี่ยวข้าว และได้มีการส่งแบบฟอร์มไปให้กับผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านเพียงหมู่บ้านละ 1 ฉบับเท่านั้น ทำให้แบบฟอร์มเข้าไม่ถึงชาวบ้าน
“เราสงสัยในความโปร่งใสอย่างมาก เพราะชาวบ้านในตำบลมีหลายพันคนดังนั้นพวกเราจึงถ่ายเอกสารเป็นสำเนา และให้ชาวบ้านร่วมกันแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยเสียเลย และขอให้ทางเจ้าหน้าที่ได้ลงนามรับรองด้วย”
นางสุพรรณี แสงอรุณ แกนนำชาวบ้านอีกคนกล่าวว่า แบบฟอร์มดังกล่าวระบุให้นำไปให้ชาวบ้านกรอกตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.52 แต่กลับมีการส่งไปให้หมู่บ้านละ 1 ฉบับในวันที่ 19 พ.ค.จากนั้นกำหนดให้ติดประกาศเพียง 15 วันและให้ชาวบ้านคัดค้านภายใน 5 วัน ซึ่งนับว่าหมิ่นเหม่อย่างมาก เพราะชาวบ้านไม่ได้รับเอกสารและไม่ได้รู้เรื่องด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่าจากนั้น นายเรืองศักดิ์ โฆษะครรชิต อุตสาหกรรม จ.เชียงราย ได้เชิญบรรดาแกนนำทั้งหมดเข้าไปหารือภายในสำนักงาน ขณะที่ชาวบ้านจำนวนมากยังคงเปิดเครื่องเสียงและผลัดกันขึ้นปราศรัยบนเวที โดยมีเนื้อหาว่ามีความพยายามจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าโดยไม่โปร่งใสและไม่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม รวมทั้งเรียกร้องให้กรมอุตสาหกรรมโรงงานไม่อนุญาตให้บริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ไปตั้งในพื้นทีด้วย
นอกจากนี้ยังมีการตะโกนตำหนิสื่อมวลชนที่ไปทำข่าวทุกแขนงเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องว่าถูกซื้อไปหมดแล้วจึงไม่มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวออกสู่สาธารณชนเลยด้วย
ด้าน นายเรืองศักดิ์กล่าวชี้แจงว่า ยืนยันว่าในปัจจุบันยังไม่มีการอนุญาตให้เอกชนเข้าไปจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวลดังกล่าวแต่อย่างใด แต่การเข้าไปถมดินหรือขนวัสดุอุปกรณ์ไปยังสถานที่ที่เอกชนได้ซื้อเอาไว้แล้วนั้น ถือว่าสามารถทำได้ตราบใดที่ยังไม่มีการลงเสาเข็มก่อสร้าง ดังนั้นตนจะเข้าไปจับกุมดำเนินคดีไม่ได้ แต่ก็ยืนยันอีกว่าหากมีการก่อสร้างก็จะพาตำรวจเข้าไปจับกุมดำเนินคดีได้ทันที เพราะยังไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากอยู่ในระหว่างขั้นตอนขออนุญาตและทำประชาคมรับฟังความเห็นของชาวบ้านภายใน 20 วันนับตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.อยู่นั่นเอง
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่าหลังเจรจาแกนนำชาวบ้านมีท่าทีพอใจ แต่ให้นายเรืองศักดิ์ทำเป็นหนังสือยืนยันว่า หากมีการก่อสร้างโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจะเข้าไปดำเนินคดีทันที ซึ่งนายเรืองศักดิ์ ได้ให้เจ้าหน้าที่จัดทำหนังสือแล้ว แต่ปรากฎว่า หนังสือที่ทำออกมาเป็นภาษาราชการขณะที่ชาวบ้านต้องการให้ระบุข้อความให้ชัดเจน จึงไม่สามารถตกลงกันได้และล่าสุดชาวบ้านเรียกร้องให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมโรงงาน ได้เดินทางไปแก้ไขปัญหานี้ด้วยตัวเองที่ จ.เชียงราย และได้ปักหลักชุมนุมหน้าสำนักงานอุตสาหกรรม จ.เชียงราย ต่อไป