xs
xsm
sm
md
lg

ซอฟต์แวร์ทดสอบเครือข่ายมือถือ ฝีมือไทยเทียบชั้นสากล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซอฟต์แวร์ AZENQOS
ความจำเป็นในการทดสอบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือมือถือ จะช่วยให้โอเปอเรเตอร์หรือผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถทราบว่า ระบบเครือข่ายที่ให้บริการมีปัญหาหรือไม่ เช่น ทดสอบโทรเข้า-รับสาย การคิดค่าบริการ เป็นต้น

ทว่า การทดสอบเหล่านี้ที่ผ่านมา ยังต้องใช้ทั้งอุปกรณ์ขนาดใหญ่ รถตู้ และวิศวกรนั่งประจำรถเพื่อไปทดสอบเครือข่ายด้วย ทำให้เสียเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมทั้งต้องนำเข้าอุปกรณ์ทดสอบเครือข่ายราคาแพงจากต่างประเทศ

แต่จากฝีมือคนไทย ได้สร้างสรรค์ “ซอฟต์แวร์ทดสอบเครือข่ายมือถือ” ฝีมือไทยคุณสมบัติดีไม่แพ้ฝีมือต่างชาติ
นพพร ด่านชัยนาม
นพพร ด่านชัยนาม ผู้จัดการฝ่ายเทคนิค บริษัทฟรีวิลล์ เอฟเอกซ์ จำกัด (Free Will FX Co.,LTD) หนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ดังกล่าวเล่าว่า เดิมรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนๆ เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ทดสอบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เริ่มก่อตั้งบริษัทภายใต้ชื่อ ซีนิทคอร์(Zenithcore)จำกัด จากนั้นจึงได้เข้าร่วมใน โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) ของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจซอฟต์แวร์ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค)ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) ซึ่งเป็นโครงการสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระและผู้ประกอบการใหม่ที่เริ่มดำเนินธุรกิจให้สามารถมีแนวทางในการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จและยั่งยืน

จากการเข้าร่วมในโครงการนี้ ทำให้มีโอกาสพบปะกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำงานลักษณะใกล้เคียงกัน และสามารถจับคู่ธุรกิจร่วมกับกลุ่มบริษัท ฟรีวิลล์โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งให้บริการเครือข่ายมือถือ จนกลายเป็นบริษัทร่วมทุนใหม่ ภายใต้ชื่อ “บริษัท ฟรีวิลล์ เอฟเอกซ์ จำกัด” ซึ่งมีซอฟต์แวร์ที่ให้บริการต่างๆบนมือถือ (Mobile Value Added Services) และได้พัฒนาซอฟต์แวร์เด่นอย่าง “ซอฟต์แวร์ทดสอบคุณภาพเครือข่ายมือถือ” ภายใต้ชื่อ AZENQOS ซึ่งมีราคาประหยัด แถมยังเป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถทำงานได้ง่ายบนมือถือทั่วไป จึงทำให้น้ำหนักเบาอีกด้วย

เขา เล่าถึง จุดเด่นของซอฟต์แวร์ที่คิดค้นขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในอดีต ที่การใช้อุปกรณ์วัดคุณภาพเครือข่ายเป็นเรื่องยุ่งยาก เนื่องจากต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ขนาดใหญ่และนำขึ้นรถตู้ ขับตระเวนไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อทดสอบสัญญาณและเก็บข้อมูลโดยต้องมีวิศวกรนั่งประจำรถไปด้วย จากนั้นจึงนำกลับมาวิเคราะห์ว่าพื้นที่ไหนมีสัญญาณชัดเจนหรือบกพร่อง หากเจอปัญหาผู้ให้บริการเครือข่ายจึงค่อยเข้าไปแก้ไข ทำให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการ
หน้าจอระบบการทำงาน
ดังนั้น บริษัทฯได้พัฒนาอุปกรณ์ทดสอบสัญญาณเครือข่ายภายใต้ชื่อ AZENQOS และมีอุปกรณ์แยกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ AZENQOS Experience ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ชนิดหนึ่งที่สามารถนำไปติดตั้งในมือถือทั่วๆไป และใช้ทดสอบการให้บริการต่างๆ ของมือถือ จุดเด่น คือ สามารถพกพาไปใช้งานได้ง่าย ครอบคลุมทุกพื้นที่

นพพร อธิบายว่า AZENQOS Voyager คือ กล่องฮาร์ดแวร์ขนาดเล็กที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับอุปกรณ์ราคาแพงจากต่างประเทศ สามารถนำไปติดตั้งเพื่อทดสอบสัญญาณเครือข่ายบนยานพาหนะต่างๆ เช่น แท็กซี่หรือรถโดยสารประจำทาง มีจุดเด่นในการทำงานคล้ายคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และมีหน่วยความจำอยู่ในเครื่องจึงทำงานแบบอัตโนมัติ โดยผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถควบคุมการทดสอบสัญญาณหรือบริการต่างๆจากออฟฟิศมายังกล่องฮาร์ดแวร์ดังกล่าวเพื่อเก็บข้อมูล และเมื่อเก็บข้อมูลตามคำสั่งเรียบร้อยแล้ว กล่องฮาร์ดแวร์นี้จะสามารถส่งข้อมูลออนไลน์กลับมายังออฟฟิศและรายงานผลการทดสอบได้ทันที

“ถ้าเป็นอุปกรณ์สมัยก่อนจะมีรถตู้ คอมพิวเตอร์ และคนไปด้วย คือ คนต้องไปคอยตรวจสอบเก็บผลรายงาน และอีกวันก็ต้องยกกล่องกลับไปที่ออฟฟิศและโหลดข้อมูลออกมาแสดงผล แต่อุปกรณ์ที่เราพัฒนาขึ้นสามารถนั่งสั่งงานและควบคุมการทำงานจากออฟฟิศได้เลย” นายนพพร กล่าว

AZENQOS Subscriber ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานคล้ายมอนิเตอร์ เช่น หากลูกค้าโทรมาแจ้งว่าการใช้งานบริการต่างๆในโทรศัพท์มือถือมีปัญหา ผู้ให้บริการเครือข่ายจะสามารถนำซอฟต์แวร์ดังกล่าวไปติดตั้งบนมือถือของลูกค้า เพื่อคอยตรวจสอบและรายงานผลการใช้งาน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำงานโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้มือถือของลูกค้า ทำให้ลูกค้าสามารถใช้มือถือที่มีซอฟต์แวร์ดังกล่าวได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ความจำเป็นในการวัดคุณภาพเครือข่ายมือถือนั้นมีความสำคัญมาก อาทิ หากผู้ให้บริการเครือข่ายไม่สามารถตรวจสอบการใช้บริการต่างๆ เช่น SMS MMS GPRS ของลูกค้าได้ถูกต้อง อาจทำความเสียหายกับผู้ให้บริการเครือข่ายถึงปีละ 20-30 ล้านบาท ดังนั้นอุปกรณ์ที่บริษัทฯพัฒนาขึ้นจึงต้องตรวจสอบการให้บริการต่างๆได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ หรือการตรวจสอบสัญญาณการใช้งานโทรศัพท์มือถือต้องได้มาตรฐาน สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) อาทิ สามารถโทรออกได้ไม่น้อยกว่า 95% ไม่มีการบล็อกสัญญาณ ใช้งานได้ปกติ รวมถึงการตรวจสอบค่าใช้จ่ายหลังการใช้งานถูกต้อง

นอกจากนี้ นพพร ยังมองวงการสื่อสารในอนาคตว่า มีโอกาสทางการตลาดสูง บางคนเลิกใช้โทรศัพท์บ้านและหันมาใช้มือถือเป็นหลัก อนาคตจึงต้องมีการพัฒนาความสามารถของอุปกรณ์มือถือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจไม่ได้มาแทนที่คอมพิวเตอร์ แต่จะกลายเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องที่สองที่รวบรวมความต้องการต่างๆ ครอบคลุมไว้ในเครื่องเดียว และด้วยการเป็นเทคโนโลยีไร้สาย จึงทำให้มีความแพร่หลายในการใช้งานเพื่อทำธุรกิจต่างๆผ่านมือถือมากขึ้น อีกทั้งมองว่า การเข้าร่วมใน ศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์พาร์ค ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) ทำให้สามารถ เข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ หาพันธมิตรทางธุรกิจ เปิดโอกาสทางการตลาด จนสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ราคาประหยัด ฝีมือคนไทย แข่งขันกับซอฟต์แวร์ราคาแพงในตลาดโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น