สสว. ลั่นกลองดันแผนเสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทยบุกตลาดอาเซียน หวังชิงเค้กตลาดใหม่โลก พร้อมปูทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืน อัด 280 ล. เดินเครื่องกลางเดือนหน้า ขณะที่ผลสำรวจสถานการณ์ประจำ Q1 สารพัดปัญหายังรุม ทั้ง ศก.ชะลอ การเมืองป่วน ผู้บริโภคขาดเชื่อมั่น ฉุด GDP SMEs หดตัว 2% ชี้ปัญหายังลากยาวอีกอย่างน้อย 2 ปี
นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่จะเปลี่ยนศูนย์กลางจากยุโรปมาเป็นเอเชีย และตลาดอาเซียนถือเป็นหนึ่งในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงพร้อมในทุกๆ ด้าน ที่ผ่านมา SMEs ไทยมีมูลค่าส่งออกไป อาเซียนกว่า 4 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของการส่งออก อีกทั้งอันดับเติบโตเพิ่มขึ้นสูงทุกปี
นอกจากนั้น ที่สำคัญในอีก 6 ปีข้างหน้า จะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้เกิดการค้าเสรีในภูมิภาค ส่งผลให้มูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นมหาศาล ดังนั้น สสว.ได้จัดทำโครงการพัฒนา SMEs ไทยให้มีศักยภาพพร้อมที่จะเป็นเจ้าตลาดในภูมิภาคนี้ สามารถแข่งขันและรับมือกับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว อยู่ภายในงบประมาณ 280 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการบริหาร สสว. แล้ว รูปแบบโครงการจะเน้นเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ควบคู่สนับสนุนการตลาด เจาะจงเพื่อเปิดตลาดอาเซียนโดยเฉพาะ เช่น พี่เลี้ยงธุรกิจ จับคู่ธุรกิจ ช่วยงบออกงานแสดงสินค้า เป็นต้น คาดจะเริ่มดำเนินการได้ในกลางพฤษภาคมที่จะถึงนี้
ด้านดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิเคราะห์ และเตือนภัย SMEs รายสาขา สสว. เผยผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง SMEs เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา พบว่า สถานการณ์ SMEs ยังคงน่าเป็นห่วง และคาดปัญหาจะต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยปัจจัยที่ SMEs กังวลมากที่สุด ร้อยละ 98.66 ด้านเศรษฐกิจไทย ขาดการลงทุน และขาดความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.21 กังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง และร้อยละ 96.23 กังวลพฤติกรรมผู้บริโภค ลดการใช้จ่าย เพราะเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้ผู้บริโภคหันมาเก็บออมมากขึ้น
จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ทำให้ GDP ของ SMEs สิ้นปี 2552 จะปรับตัวลดลงร้อยละ 2 หรือมีมูลค่าเพียง 3.4 ล้านล้านบาท จำนวน SMEs ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.06 แรงงานภาค SMEs ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.74 มีอัตราถูกเลิกจ้างราว 2-3 แสนราย
นอกจากนี้ การส่งออกของ SMEs น่าจะมีมูลค่าเพียง 1.58 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.41 ขณะที่ ผลตอบแทนจากการดำเนินงาน จะปรับตัวลดลงจากร้อยละ 4.24 เป็นร้อยละ 3.98 หรือลดลงร้อยละ 6.31 ซึ่งถือว่า ลดรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปีทีเดียว สำหรับสาขาที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม บริการเสริมสุขภาพ สปาฯ
สำหรับแนวโน้ม SMEs คาดว่า จะทรุดต่ำที่สุดในช่วงไตรมาส 2 และ3 ก่อนจะปรับตัวขึ้นบ้างในไตรมาสสุดท้ายของปี แต่เป็นการปรับตัวขึ้นแค่พอจะประคองตัวได้ และมีแนวโน้มจะฟื้นขึ้นอย่างจริงจังในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2553
ดร.ณัฐพล ระบุว่า สิ่งที่ SMEs ทำเร่งทำขณะนี้ คือ พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มีมาตรฐาน รองรับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต รวมถึง แก้ไขปัญหาต่างๆ ภายในองค์กร เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพ อีกทั้ง เตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาด AEC ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในอนาคต