xs
xsm
sm
md
lg

“ประดิษฐ์” จี้เอสเอ็มอีแบงก์ ปล่อยกู้ ด่วน! ผปก.ท่องเที่ยว ใน 15 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์
“ประดิษฐ์” ย้ำให้เอสเอ็มอีแบงก์เร่งปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว อนุมัติได้ภายใน 15 วัน ขอความร่วมมือสมาคมด้านท่องเที่ยว ส่งรายชื่อผปก. ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เพื่อให้ความช่วยเหลือทั่วถึง มั่นใจไม่เกิดปัญหาหนี้เน่าเพิ่ม ชี้สถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีขึ้นในเร็ววัน

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังหารือกับผู้บริหารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้เอสเอ็มอีแบงก์ช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาการเมืองในประเทศ เพื่อต้องการช่วยเหลือสภาพคล่องของธุรกิจท่องเที่ยว เอสเอ็มอีแบงก์จึงเตรียมวงเงิน 5,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ โดยให้เริ่มยื่นคำขอกู้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-31 กรกฎาคมนี้ และต้องเป็นผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจที่พักโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว ต้องให้สมาคมด้านการท่องเที่ยวรับรองรายชื่อการเป็นสมาชิก เพื่อความรวดเร็วในการอนุมัติสินเชื่อภายใน 15 วัน และต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินอื่น ซึ่งจะเป็นการปล่อยกู้ไม่เกินระยะเวลา 5 ปี ปลอดชำระหนี้คืนเงินต้น 1 ปี ให้สินเชื่อไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก เอ็มแอลอาร์ ลบร้อยละ 3 ส่วนปีที่ 3 ดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ ตามที่ธนาคารกำหนด โดยมีเงื่อนไขผ่อนปรนไม่ต้องใช้หลักประกันเพียงแต่เป็นการค้ำ ประกันไขว้ของผู้กู้ 2 รายขึ้นไป เพื่อค้ำประกันกันเอง จึงเร่งผู้ประกอบการที่มีปัญหาให้รีบยื่นขอกู้เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ

นายประดิษฐ์ เผยต่อว่า ได้ย้ำให้เอสเอ็มอีแบงก์ เร่งพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ภายใน 15 วัน ส่วนกรณีผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ กระทรวงการคลังเป็นห่วงมาก จึงจะให้สมาคมด้านการท่องเที่ยว เช่น สมาคมโรงแรมไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพิจารณาการเข้าเป็นสมาชิก เพื่อส่งรายชื่อให้เอสเอ็มแบงก์พิจารณาปล่อยสินเชื่อ และหากมีความต้องการสินเชื่อเกินวงเงินที่ตั้งไว้ก็พร้อมพิจารณาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อดังกล่าวให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไม่น่ามีปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นมาก เพราะคาดว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวน่าจะเริ่มดีขึ้น เนื่องจากมีระยะปลอดชำระเงินต้นในช่วงปีแรก จากนั้นผู้ประกอบการจึงเริ่มชำระในปีที่ 2 หากกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ชำระเงินต้นประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน บวกภาระดอกเบี้ยประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน คาดว่าคงไม่เป็นปัญหาต่อผู้ประกอบการมากนัก เพราะรัฐบาลลดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเอ็มแอลอาร์ลบร้อยละ 3 โดยรัฐบาลจะช่วยชดเชยภาระดอกเบี้ยร้อยละ 2 ส่วนอีกร้อยละ 1 เอสเอ็มอีแบงก์จะชดเชยให้ นอกจากนี้ ยังมีการแยกบัญชีโครงการดังกล่าวมาอยู่ในการปล่อยสินเชื่อตามโครงการนโยบายของรัฐ เพื่อให้รัฐดูแลชดเชยความเสียหาย เพราะการท่องเที่ยวถือเป็นวาระแห่งชาติ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการในส่วนของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีสมาชิก 1,200 ราย มีผู้ยื่นกู้แล้ว 78 ราย วงเงิน 800 ล้านบาท สมาคมภัตตาคารไทยสมาชิก 30,000 ราย ยื่นขอกู้แล้วประมาณ 900 ล้านบาท จากความต้องการสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท ขณะที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยื่นขอกู้แล้ว 40 ราย วงเงินประมาณ 278 ล้านบาท

“เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการปล่อยกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงสั่งการให้พนักงานเอสเอ็มอีแบงก์ทุกสาขาทั่วประเทศประกบติดลูกค้าในพื้นที่ เพื่อติดตามดูแลให้การช่วยเหลือและให้คำปรึกษาด้านการเงินอย่างใกล้ชิด จึงเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาเอ็นพีแอลสร้างภาระให้กับรัฐบาล ซึ่งรับประกันการชดเชยความเสียหายให้”นายประดิษฐ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น