จากพิษเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 กระทบธุรกิจในเมืองท่องเที่ยวอย่างเกาะภูเก็ต ทั้งโรงแรม ร้านอาหารต่างๆ หลายรายปิดกิจการลง เกิดปัญหาคนว่างงานเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ สามีภรรยาผู้อาวุโส อย่าง “คนึง และสุนีย์ แก่นแก้ว” พยายามหาวิธีช่วยเหลือสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน
จากความมุ่งมั่นดังกล่าว นำมาสู่ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าบาติก แบรนด์ “Phuket City Hall Batik”ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นจากลวดลาย สวยงามและแปลกตา มาพร้อมกับสีสดใส เรียกความน่าสนใจได้อย่างดี จนปัจจุบัน ประสบความสำเร็จก้าวเป็นกลุ่มผู้ผลิตบาติกแนวหน้า มีฐานลูกค้าขาประจำอยู่ทั่วประเทศ
สุนีย์ เล่าว่า เดิมตัวเองเป็นแม่บ้าน ส่วนสามี (คนึง) เกษียณอายุจากงานประจำ ทำให้มีเวลาว่างมากขึ้น ประกอบกับเวลานั้น เห็นว่า ชาวบ้านในชุมชนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ไม่มีงานทำ ก็อยากจะช่วยเหลือเท่าที่พอมีกำลังจะช่วยได้
“ลุงเขาพอจะมีฝีมือและรักงานศิลปะอยู่แล้ว ป้าก็คิดอยากจะช่วยกันทำผ้าบาติกขาย เพื่อจะให้ชาวบ้านมีงานทำด้วย โดยตั้งเป็น “กลุ่มบาติกเทศบาลนครภูเก็ต” ตัวป้าทำหน้าที่ประธานกลุ่ม จัดการด้านบริหารทุกอย่าง ส่วนเงินทุนขอสนับสนุนจากภาครัฐ 20,000 บาท บวกกับทุนตัวเอง และขอจากลูกๆ บ้าง นำมาซื้อผ้า ซื้อสีและอุปกรณ์ที่จำเป็น อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นทุนหมุนเวียน และค่าสวัสดิการของสมาชิก”
ประธานกลุ่ม เผยว่า เวลานั้นการทำผ้าบาติกยังไม่มากนัก ความรู้ต่างๆ ได้รับความช่วยเหลือจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งวิทยากรมาถ่ายทอดให้ถึงที่บ้าน ใช้เวลาเรียน 180 ชั่วโมง จากนั้นฝึกฝนทักษะกันเองจนเกิดความชำนาญ โดยมีสมาชิกเริ่มแรกเพียง 27 คน
อย่างไรก็ตาม การตลาดระยะแรกค่อนข้างจำกัด ขายเฉพาะตามชายหาดในจังหวัดภูเก็ต กระทั่ง ได้โอกาสจากเทศบาลนครภูเก็ตให้นำไปวางขายในสำนักงาน เจ้าหน้าที่ช่วยกันซื้อกันละชิ้นสองชิ้น นานเข้าก็มีหน่วยงาน องค์กร กลุ่มอาชีพตามจังหวัดต่างๆ เดินทางมาศึกษาดูงาน ซื้อสินค้าติดไม้ติดมือกลับไปด้วย เกิดการบอกต่อ ช่วยให้ชื่อเสียงสินค้าของกลุ่ม ขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ ภายใต้แบรนด์ “Phuket City Hall Batik” นอกจากนั้น ได้รับการสนับสนุนจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขาภูเก็ต นำสินค้าไปวางจำหน่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำให้สินค้ามีช่องทางกระจายไปสู่ลูกค้าทั่วประเทศ
เหตุที่สินค้า “Phuket City Hall Batik” ได้รับความนิยมอย่างสูง สุนีย์ ระบุว่า มาจากสีสัน สดใส เห็นแล้วสะดุดตา อีกทั้ง ลวดลายไม่ซ้ำแบบใคร สร้างสรรค์จากจินตนาการ พยายามสะท้อนความงามทางธรรมชาติบนเกาะภูเก็ตในมุมต่างๆ เช่น พระอาทิตย์ตกที่แหลมพรหมเทพ ภาพบรรยากาศใต้ท้องทะเล วัฒนธรรมท้องถิ่น และวิถีชีวิตของชาวภูเก็ตมาถ่ายทอด เป็นต้น ทำให้ลวดลายที่ปรากฎดูอ่อนช้อยมีชีวิตชีวา
“สิ่งสำคัญต้องประณีต พิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นการเพนท์ลาย ลงสี เขียนเทียน การออกแบบ การเย็บ รวมถึงการเลือกเนื้อผ้า เจาะจงเฉพาะคอตตอลแท้ 100% เนื้อผ้าจะนิ่ม รีดง่าย ไม่เป็นขุย เบาสบาย มีความเงาสวยงาม ขณะเดียวกันก็ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดูดีเหมาะสมกับคุณภาพสินค้า ก่อนส่งมอบให้ลูกค้าป้าต้องตรวจเช็คอย่างละเอียดทุกครั้ง ความพิเศษเหล่านี้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และโอทอป 4 ดาว ทุกปี”
ทั้งนี้ สินค้าของกลุ่มฯ มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ ผ้าปูโต๊ะ ผ้าพันชายหาด เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต รวมถึง ผลิตชุดฟอร์มให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่ว แต่ละเดือนมียอดสั่งไม่ต่ำกว่า 400-500 ตัว ราคาแตกต่างกันไป เฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 500 บาท สามารถสร้างรายได้เข้ากลุ่มหลักแสนบาทต่อเดือน และสร้างรายได้ให้สมาชิกนับหมื่นบาทต่อคนต่อเดือน
หัวใจแห่งความสำเร็จในวันนี้ ประธานกลุ่มฯ ระบุว่า นอกเหนือจากความตั้งใจของสมาชิกทุกคนแล้ว คือ โอกาสที่กลุ่มฯ ได้รับหยิบยื่นมาจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลนครภูเก็ต กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และภาคเอกชนต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนทั้งเงินทุน อุปกรณ์ และความรู้ด้านวิชาการ การตลาด ฯลฯ ทำให้กลุ่มฯ สามารถพัฒนาสินค้า รและการตลอดจนมีความเข้มแข็งเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
##############################
โทร. 08-1821-2578 ,0-7621-9143