xs
xsm
sm
md
lg

เรือรบจำลองบังคับวิทยุ จุดไอเดียตั้งโชว์เท่ - แล่นน้ำฉิว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันมีผู้ประดิษฐ์เรือไม้จำลองออกมาขายมากมาย แทบทั้งหมดล้วนสร้างสรรค์เป็นเรือพาณิชย์โบราณ ต่างกับรายของ “ศุภากร เรือจำลอง” จากจังหวัดสมุทรปราการ เลือกจะแตกต่าง เน้นประดิษฐ์เป็น “เรือรบจำลอง” มีความพิเศษนอกเหนือจากตั้งโชว์สวยงามแล้ว ยังบังคับด้วยระบบวิทยุ แล่นในน้ำได้จริงด้วย

บุญลือ ม่วงเข้ม  เจ้าของผลงาน
เจ้าของผลงานและผู้บุกเบิก คือ “บุญลือ ม่วงเข้ม” ชาวสมุทรปราการโดยกำเนิด เริ่มต้นยึดอาชีพนี้ราว ปี พ.ศ.2545 หลังถูกจ้างออกจากงานประจำ ซึ่งทำตำแหน่งช่างไฟอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง เนื่องจากโรงงานประสบปัญหาทางธุรกิจ
เรือคอนเทนเนอร์ สินค้าเปิดตัว
“บ้านผมอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่เด็ก ผมก็จะเห็นเรือคอนเทนเนอร์แล่นในแม่น้ำเจ้าพระยามาตลอด พอว่างงานก็ลองทำเรือคอนเทนเนอร์จำลองเป็นงานอดิเรก ใช้เวลาเป็นเดือน กว่าจะเสร็จ พอมีเพื่อนมาเห็น ก็พูดชม และขอซื้อ ทำให้ผมคิดทำออกขาย เพื่อหารายได้ระหว่างตกงาน” บุญลือ เล่าถึงจุดเริ่มต้นเมื่อกว่า 7 ปีที่แล้ว
เก็บรายละเอียดเหมือนจริง
ในความเป็นจริง บุญลือไม่เคยเรียนด้านศิลปะ หรือการต่อเรือเลย การประดิษฐ์ทั้งหมดมาจากลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง โดยอาศัยดูแบบจากรูปถ่ายเท่านั้น

เจ้าตัวยอมรับว่า เรือจำลองในตอนนั้น รูปทรงไม่สวยงามเลย สัดส่วนและรายละเอียดยังไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่เมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อเรือคอนเทนเนอร์จำลองเพิ่มขึ้นจากกระแสบอกต่อ ทำให้ต้องเร่งพัฒนาฝีมือและสินค้าอย่างจริงจัง โดยศึกษาจากตำราต่อเรือ รวมถึงไปดูเรือของจริงตามพิพิธภัณฑ์ และท่าเรือต่างๆ เป็นต้น

จากผลงานยุคแรกรับทำเรือคอนเทนเนอร์จำลอง กระทั่ง มีจุดพลิกผันสำคัญ เมื่อนายทหารท่านหนึ่ง ว่าจ้างให้ทำเรือรบจักรีนฤเบศรจำลอง บุญลือจึงต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการหาข้อมูลวิธีต่อเรือรบ ทั้งศึกษาจากตำรา และเดินทางไปดูเรือรบจริงๆ นอกจากนั้น ยังได้รับความกรุณาจากนายทหารเรือท่านหนึ่ง มอบพิมพ์เขียวแบบเรือรบที่ปลดประจำการให้อีกด้วย

บุญลือ เล่าว่า ผลงานเรือรบจำลองเป็นที่ฮือฮาของผู้พบเห็นอย่างมาก รวมถึง สื่อมวลชนหลายรายติดต่อขอสัมภาษณ์ ช่วยให้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น กระตุ้นคำสั่งซื้อเพิ่มจากเดิมหลายเท่าตัว และยังทำให้ชื่อของเขากลายเป็นสัญลักษณ์ควบคู่กับการประดิษฐ์เรือรบจำลอง

จุดเด่นของเรือรบจำลอง คือ รายละเอียดและกระบวนการต่อเรือเหมือนจริงทุกประการ อีกทั้ง บุญลือยังใช้พื้นฐานช่างไฟมาต่อยอดสินค้าด้วย โดยวางระบบไฟฟ้า เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆ ในตัวเรือจำลอง เช่น ไฟประดับ และเสาอากาศต่างๆ สามารถส่องแสง หรือขยับ และหมุนได้เหมือนจริง

มีการวางระบบไฟ เพิ่มสีสัน
อีกทั้ง ยังพัฒนาให้เป็นเรือบังคับสามารถแล่นบนผิวน้ำได้จริงๆ ควบคุมผ่านรีโมทคอนโทรล ซึ่งกว่าจะทำออกมาสำเร็จใช้เวลาทดลองร่วมปีทีเดียว เคล็ดลับสำคัญ เรือที่แล่นบนผิวน้ำได้ ลำตัวเรือต้องมีสเกลค่อนข้างกว้าง เพื่อทรงตัวได้ดี การวางหางเสือ และใบพัดต้องสมดุลกับลำเรือ ขณะที่อุปกรณ์ไม้ต้องทาเคลือบกันน้ำ อย่างน้อย 3 ชั้นทั้งด้านในและนอก รวมถึงประกอบลำเรืออย่างชำนาญ ป้องกันการรั่วซึม
ลำใหญ่ ราคาประมาณ 29,000 บ.
สำหรับเรือรบจำลอง มีประมาณ 20 แบบ สินค้าขายดีอันดับต้นๆ ได้แก่ เรือจักรีนฤเบศร เรือหลวงตากสิน เรือหลวงธนบุรี และเรือหลวงพระร่วง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเรือคอนเทนเนอร์ เรือเครน เรือบรรทุกแก๊ส และเรือบรรทุกน้ำมัน เป็นต้น สัดส่วนเรือจำลองที่ใช้ คือ 1:100 (ยาวประมาณ 120 เซนติเมตร) และ 1:200 (ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร) มีทั้งแบบตั้งโชว์ กับแบบบังคับได้ ราคาอยู่ที่ประมาณลำละ 1,700 – 30,000 บาท นอกจากนั้น ยังนำเศษไม้มาทำเป็นเครื่องบินรบ และเฮลิคอปเตอร์ ขายในราคาไม่กี่ร้อยบาทอีกด้วย

ช่องทางตลาด ส่วนใหญ่มาจากทำตามคำสั่งซื้อของลูกค้าขาประจำ อีกทั้ง ได้รับคัดเลือกเป็นสินค้าโอทอป ของจังหวัดสมุทรปราการ ในชื่อเครื่องหมายการค้า “ศุภากร เรือจำลอง” ทางจังหวัดจึงคอยช่วยเหลือพาไปออกงานแสดงสินค้าโอทอปสม่ำเสมอ โดยเฉลี่ยมียอดสั่ง ประมาณ 3-5 ลำต่อเดือน ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีอดีตผูกพันกับเรือ หรือท้องทะเลมาก่อน เช่น อดีตนายทหารเรือ และเจ้าของธุรกิจเดินเรือ เป็นต้น
เฮลิคอปเตอร์ นำเศษไม้เหลือทิ้ง มาเพิ่มค่า
สำหรับวัตถุดิบหลักที่ใช้ทำ คือ ไม้อัด ตัดเป็นชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเรือหนึ่งลำ จะประกอบด้วยชิ้นส่วนไม้มากกว่าร้อยชิ้น ขั้นตอนการทำเหมือนต่อเรือจริงทุกประการ เวลาในการทำ หากเป็นลำเล็ก ประมาณ 4 วันต่อลำ ส่วนลำใหญ่ กว่า 3 สัปดาห์ต่อลำ

บุญลือ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มทำจนถึงปัจจุบัน เขายังเป็นรายเดียวในประเทศไทย ที่ประดิษฐ์เรือรบไม้จำลองอย่างจริงจัง เหตุผลที่ไม่มีผู้ผลิตรายอื่นๆ เลย เนื่องจากแหล่งข้อมูลในการทำเรือรบ ทั้งหนังสือ แบบสเกล ตลอดจนพิมพ์เขียวต่างๆ ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ และที่สำคัญไม่มีการสอน ซึ่งต่างจากเรือโบราณจำลอง ซึ่งสอนกันอย่างแพร่หลาย ทำให้มีผู้ผลิตจำนวนมาก

“หลายคนที่เห็นสินค้าของผม โดยเฉพาะพวกนายทหารเรือเก่า ก็จะบอกว่า เรือรบจำลองพวกนี้ คนทำต้องเป็นคนในกองทัพเรือ น้อยรายจะเชื่อว่าผมทำเอง เพราะข้อมูลเหล่านี้ มันหายากมาก กว่าผมจะทำได้ ต้องใช้เวลาศึกษาเก็บข้อมูลจากที่ต่างๆ ลองผิดลองถูกนานเป็นปี ซึ่งจริงๆแล้ว ผมไม่ได้หวงวิชานี้ เคยพยายามจะสร้างเด็กขึ้นมาช่วยเป็นทีมงานด้วยซ้ำ แต่ปัญหาที่ผ่านมา ฝึกได้ไม่นานก็ถอดใจไปก่อน เพราะมันเป็นงานที่ละเอียดและทำยากมาก ทั้งวันต้องจดจ่ออยู่กับเศษไม้ชิ้นเล็กเป็นร้อยๆ ชิ้น ถ้าใจไม่ชอบจริงๆ ก็ยากจะทำได้” บุญลือ เผยทิ้งท้าย

***********

โทร.0-2815-5632 08-6019-7094

กำลังโหลดความคิดเห็น