เลขาฯ สภาเดินหน้าจัดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 8-9 ธ.ค.นี้ เตรียมประสานตำรวจรับมือ เชื่อไม่มีรุนแรงถึงขั้นพันธมิตรฯ ปิดล้อม เหตุไม่รับปากรัฐบาลบรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ค้านหนีประชุมบนเรือจักรีนฤเบศร์ ยันไม่สะดวกและเสียภาพลักษณ์ กระทบเดินหน้าสร้างสภาใหม่ ไม่สะดุดวิกฤติการเมือง
วันนี้ (1 ธ.ค.) นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8-9 ธันวาคม ที่เกรงว่าจะเกิดปัญหากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาปิดล้อมรัฐสภา เหมือนวันที่ 7 ตุลาคม และวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า คณะรัฐมนตรีมีมติขอเปิดประชุมเพื่อให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นวาะการพิจารณาเรื่องข้อตกลงและสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ในวาระการประชุม ซึ่งรัฐบาลแจ้งเหตุผลว่ามีความจำเป็นต้องพิจารณาเพื่อให้ทันการเจรจาเอเซียนซัมมิต ส่วนวาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของ คพปร.ที่เป็นต้นเหตุของการชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาตามที่กลุ่มพันธมิตรฯ ระบุนั้นไม่น่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาด้วย ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่ดุลพินิจของประธานรัฐสภาจะพิจารณา
เมื่อถามกรณี ส.ส.รัฐบาลเสนอให้เปลี่ยนที่ประชุมหากเกิดปัญหาปิดล้อมรัฐสภาอีก เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้หารือกับ ส.ส.ก่อนปิดสมัยประชุมแล้ว แต่มีความเห็นที่หลากหลายกันมาก ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรยังคงยืนยันว่าการประชุมสภาต้องดำเนินการประชุมที่รัฐสภาเท่านั้น ส่วนฝ่ายที่อยากให้เปลี่ยนสถานที่ประชุมก็ให้เหตุผลเรื่องปัญหาการปิดล้อมรัฐสภา ทั้ง 2 ครั้งที่ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมหรือสมาชิกเดินทางเข้าและออกรัฐสภาได้ อย่างไรก็ตาม วันที่ 8-9 ธันวาคม คงต้องประชุมกันที่รัฐสภาตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรยืนยัน ส่วนรัฐสภาก็ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ โดยตอนนี้ประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ช่วยส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายกองร้อยมารักษาความปลอดภัยบริเวณโดยรอบอาคารัฐสภาอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว
เมื่อถามข้อเสนอของ ส.ส.รัฐบาล ที่ให้ย้ายสถานที่ประชุมร่วมรัฐสภา หรือประชุมคณะรัฐมนตรี บนเรือจักรีนฤเบศร์ เพื่อหนีการปิดล้อมรัฐสภาจากกลุ่มพันธมิตรฯ นายพิทูร กล่าวว่า มี ส.ส.รัฐบาลแสดงความเห็นไว้ และทราบว่าบางคนได้โทรศัพท์มาสอบถามยังผู้บังคับการเรือจักรีนฤเบศร์ถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดการประชุมบนเรือรบ แต่ในความเป็นจริงคงทำได้ยาก เพราะมีปัญหาทั้งเรื่องทางเทคนิค ที่เวลาเรือแล่นออกไปจะมีเสียงเครื่องยนต์ดังพอสมควร ส่วนด้านสถานที่ประชุมบนเรือก็มีเก้าอี้ที่จัดไว้ในลักษณะหน้ากระดานเรียงกันไป ดังนั้น การจะติดตั้งไมโครโฟน หรือจัดให้มีโต๊ะพร้อมรับสมาชิกจำนวนหลายร้อยคนคงไม่สะดวกนัก ปัญหาสำคัญ คือ ส.ส.หลายคนระบุให้ตระหนักถึงความสง่างามของการประชุมและการทำหน้าที่ของสมาชิก โดยยืนยันว่าต้องประชุมที่รัฐสภาเพราะเป็นความศักดิ์สิทธิ์และความสง่างามของการทำหน้าที่
“ที่ผ่านมาผมเคยเดินทางไปตรวจดูพื้นที่สำรองหากมีความจำเป็นต้องย้ายสถานที่ประชุมรัฐสภาไว้บ้าง อาทิ สนามบินดอนเมือง บริเวณห้องผู้โดยสารขาออก ซึ่งเป็นที่โล่ง หลังคาสูง แต่ติดปัญหาตรงการจัดเก้าอี้ที่เป็นแถว ไม่เหมาะกับการจัดประชุมเช่นกัน ส่วนตัวเห็นว่าการประชุมที่อาคารัฐสภาจะเหมาะสมที่สุด เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของรัฐสภา เหมือนกับในต่างประเทศ เช่น ของสหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ของประเทศชัดเจน รัฐสภาไทยก็ต้องมีความเป็นเอกลักษณ์และเป็นหน้าเป็นตาของคนไทยทุกคน เมื่อมีการถ่ายทอด คนดูจะได้รู้ว่านี่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย” นายพิทูรกล่าว
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารัฐสภาแห่งใหม่ บริเวณพื้นที่ทหารแยกเกียกกาย กรุงเทพฯ ว่า ปัญหาต่างๆ คณะกรรมการพิจารณาศึกษาหาสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ พยายามดำเนินการแก้ไขและทำความเข้าใจกับชุมชน ประชาชน โรงเรียนโยธินบูรณะ และสถานที่ที่อยู่ในทีโออาร์ที่มีการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐสภากับหน่วยงานทั้ง 8 แห่ง ด้วยความรอบคอบให้มากที่สุด ส่วนอาคารรัฐสภาที่จะก่อสร้างขึ้นนั้นจะพยายามยึดหลักความสง่างามที่สะท้อนความเป็นไทยให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นคงตอบไม่ได้ว่าจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์ได้ภายในปี 2552 หรือไม่ ได้แต่หวังว่าไม่อยากให้มีอะไรมาสะดุดอีก ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในคดียุบพรรคคงไม่มีผลกระทบอะไร เพราะคณะกรรมการฯ สามารถดำเนินการต่อได้ แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่ปกติ คงต้องมาเรื่มต้นกันใหม่