xs
xsm
sm
md
lg

เปิดศักราชปี 52 ดัชนีฯ SMEs ม.ค. ลดฮวบทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

    นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสว.
สสว. เผยดัชนี TSSI SMEs เดือนมกราคม 2552 ปรับตัวลดลงทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 43.0 และ 44.5 โดยมีบริการก่อสร้าง ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และค้าส่งวัสดุก่อสร้าง มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุด เหตุเพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศ เศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการเห็นว่าปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในระดับสูง ยังคงอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ อำนาจซื้อของประชาชน สถานการณ์การแข่งขัน ต้นทุนสินค้าและค่าแรงงาน

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนมกราคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2551 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 43.0 จากระดับ 44.4 ซึ่งเป็นการลดลงเกือบทุกประเภทกิจการ โดยภาคการค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 43.1 และ 42.6 จากระดับ 44.5 และ 44.5 ส่วนภาคการค้าส่ง ค่าดัชนีคงตัวอยู่ที่ 44.0 ในส่วนความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 33.6 จากระดับ 39.3 ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 24.6 จากระดับ 20.8

“ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนีในเดือนมกราคม 2552 ปรับตัวลดลงนั้น มีผลมาจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่เริ่มได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกชัดเจนมากขึ้นผ่านการส่งออกของไทยที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ย.51 เป็นต้นมา ส่งผลให้กิจการที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกหลายแห่งมีการปลดคนงาน ประกอบกับระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และการที่รัฐบาลจะเริ่มเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน นับเป็นเป็นแรงกดดันต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจในเดือนนี้ ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาต่อผู้ประกอบการในด้านต้นทุน นอกจากนั้นการสิ้นสุดระยะเวลาของโครงการ 6 มาตรการ 6 เดือน ยังส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาของผู้บริโภคในการระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ” นายภักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ภาคการค้าส่ง กิจการค้าส่งวัสดุก่อสร้าง มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 38.7 จากระดับ 40.2 (ลดลง 1.4) ภาคการค้าปลีก ร้านค้าปลีก (สมัยใหม่) ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 41.1 จากระดับ 45.2 (ลดลง 4.1) ขณะที่กิจการสถานีบริการน้ำมัน ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากเป็นลำดับสอง อยู่ที่ 43.2 จาก 47.1 (ลดลง 3.9) ส่วนภาคบริการ กิจการบริการก่อสร้าง ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 34.8 จาก 39.4 (ลดลง 4.7)

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 44.5 จากระดับ 46.2 (ลดลง 1.7) และเป็นการลดลงทุกประเภทกิจการ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 46.5 43.4 และ 45.1 จากระดับ 47.6 45.8 แล 46.1 (ลดลง 1.1 2.4 และ 1.1 ) ตามลำดับ ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ และต่อธุรกิจตนเอง ก็ปรับตัวลดลงเช่นกันโดยอยู่ที่ 35.9 และ 37.8 จากระดับ 37.2 และ 41.2 (ลดลง 1.3 และ 3.4) ตามลำดับ

“ค่าดัชนีความเชื่อมั่นทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการในทุกประเภทกิจการ ยังคงมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก โดยเห็นว่าปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจในระดับสูง ได้แก่ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และอำนาจซื้อของประชาชน รองลงมาคือ ภาวะการแข่งขันในตลาด การหดตัวของความต้องการสินค้าและบริการ รวมทั้งราคาต้นทุนสินค้าและค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น” นายภักดิ์ กล่าว

สำหรับดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการรายภูมิภาค 5 ภูมิภาค ในเดือนมกราคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2551 พบว่า ทุกภูมิภาคมีค่าดัชนีปรับตัวลดลง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 39.3 จากระดับ 42.4 (ลดลง 3.1) รองลงมาคือ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 34.3 จากระดับ 36.4 (ลดลง 2.1) ภาคใต้ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 52.4 จากระดับ 54.3 (ลดลง 1.9) ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ค่าดัชนีลดลง อยู่ที่ 36.0 จากระดับ 37.8 (ลดลง 1.8) และ ภาคเหนือ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 46.7 จากระดับ 47.2 (ลดลง 0.5) ทั้งนี้มีผลมาจากสัญญาณการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัวในระดับต่ำและการลงทุนมีการขยายตัวลดลง ประกอบกับสถานการณ์การจ้างงานมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้ประชาชนมีความระมัดระวังด้านการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น