xs
xsm
sm
md
lg

“LOFT” ไอเดียช็อปจากญี่ปุ่น เปิดรับสมองคนไทยเสมอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร้าน LOFT เปิดตัวครั้งแรกในปี 2530 ที่ชิบูย่า มหานครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยเน้นการจำหน่ายสินค้าสำหรับชีวิตประจำวันที่มีดีไซน์แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร เน้นความหลากหลายให้เลือกสรร

เมื่อร้าน LOFT กลายเป็นร้านสินค้าขายดีไซน์ ที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว และอย่างที่รู้กันดีว่า กระแสแฟชั่นต่างๆ ที่ญี่ปุ่น ได้กลายมาเป็นกระแสในเมืองไทยเราด้วย
“สุวิภา วรรณมโนมัย” ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริหารสินค้าและการตลาดของ LOFT
บริษัท บีไอเอชซี เทรดดิ้ง จำกัด เล็งเห็นถึงเรื่องนี้เช่นกัน จึงได้เซ็นสัญญาซื้อแฟรนไชน์ และเปิดตัวร้านLOFTสาขาแรกขึ้นในปี 2540 ที่ สยามดิสคัฟเวอรี่

“สุวิภา วรรณมโนมัย” ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริหารสินค้าและการตลาดของ LOFT กล่าวถึงคอนเซ็ปต์ของร้านว่า คือ Beyond Ordinary Store

“ลูกค้าที่เดินเข้ามาที่นี่ จะหาสินค้าได้ครบ เป็นสินค้าที่ใช้งานได้จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีดีไซน์ บวกความแปลก ความแปลกของของอาจไม่ได้อยู่ที่หน้าตา แต่อาจจะใช้งานได้ในลักษณะที่เราคาดไม่ถึง พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องเป็นของที่หน้าตามีดีไซน์พร้อมฟังก์ชั่นประกอบด้วย

อีกทั้งทุกคนรู้จักLOFTที่ญี่ปุ่นอยู่แล้ว เมื่อมาเป็น LOFT ที่เมืองไทย ลูกค้าก็เข้าใจได้ทันที รวมไปถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จัก ก็เริ่มเรียนรู้ว่า LOFT ขายอะไร เราจึงค่อนข้างได้รับความนิยม และการตอบรับที่ดีตั้งแต่ในช่วงแรกๆ มาเลย จนมาถึงวิกฤตเศรษฐกิจก็อาจจะมีหย่อนลงไปบ้าง แต่ด้วยตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์ และแนวคิดในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน จึงผ่านปัญหาในช่วงนั้นมาได้”

สินค้าดีไซน์ที่ขายในร้าน LOFT แบ่งเป็นสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น 60% สินค้าเฮ้าส์แบรนด์ที่จ้างผลิตภายใต้แบรนด์ของ LOFT อีก 10% และ 30% ที่เหลือเป็นส่วนของสินค้าไทย

ในส่วน 30% นี้เอง ที่เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการโชว์ไอเดีย และนำสินค้ามาเสนอ

ใครที่อยากได้โอกาส ก็ต้องศึกษาแนวทางการดำเนินธุรกิจของ LOFT ไว้ให้ดี

“แนวคิดในการดำเนินธุรกิจของ LOFT ก็คือ Play It Twist หมายถึงคลังของสนุก ลูกเล่นชีวิต รูปแบบใหม่ที่เติมสีสันให้กับชีวิต สื่อถึงความมีชีวิตชีวา ที่มาพร้อมกับการรวบรวมสินค้าใหม่ๆ จากทุกมุมโลก ซึ่งเป็นตัวกำหนดกลยุทธ์การบริหารของร้าน ทั้งรูปแบบร้าน การตลาด สินค้า และบรรยากาศภายในร้านทั้งหมด

ในส่วนสินค้าเองก็จะมีทั้งที่มีความต่าง และความเหมือนจากญี่ปุ่น คือเราค่อนข้างโชคดี ที่เรามีแม่ที่ญี่ปุ่น ซึ่งจะคอยบอกเราว่าอะไรกำลังอินเทรนด์ คุณต้องมีอย่างนี้นะ ทำให้เราได้เปรียบ และคงความเป็น Beyond Ordinary Store เอาไว้ได้อยู่ตลอกเวลา ซึ่งมันเป็นเรื่องยากมาก ในการที่คุณจะหาอะไรใหม่อยู่ตลอดเวลา

แต่เราโชคดีที่มีตรงนี้ และโนว-ฮาว ที่เขาให้เราค่อนข้างแข็งแรง เดี๋ยวนี้ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการแค่ใช้โปรดักส์ แต่ต้องการได้รับประสบการณ์ในการช็อปปิ้ง LOFT จึงหล่อหลอมให้มันเกิดความรู้สึกต่างๆ ในการซื้อ ซึ่งไม่ใช่แค่โปรดักส์อย่างเดียว ที่รับรองได้ว่ายังไม่มีใครไปเจาะตลาดตรงนั้นได้ดีเท่าเรา”

และอีกส่วนที่ทาง LOFT ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย ได้โชว์ไอเดีย โดยการนำสินค้าดีไซน์มาเสนอกับทางร้าน

“ในจุดนี้เราเปิดโอกาสให้เยอะมาก เพราะอยากจะส่งเสริมสินค้าดีไซน์ของคนไทยด้วยกัน พี่กับซัพพลายเออร์ค่อนข้างทำงานใกล้ชิดกัน มีอะไรคุยกัน ติกันได้ แพคเกจไม่ถูก หน้าตาอย่างนี้ไม่เวิร์ค แต่ถ้าถามเกณฑ์ในการคัดเลือกจริงๆ ก็คือดีไซน์ต้องมาก่อน ตามมาด้วยฟังค์ชั่นการใช้งาน ราคาคือเรื่องสุดท้าย

ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นส่วนประกอบ อย่างเรื่องการจัดดิสเพลย์ แพคเกจจิ้ง ซึ่งเรื่องพวกนี้มันปรับปรุงกันได้

สินค้าที่ไม่ผ่านการคัดเลือก ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเพราะอะไร ต้องดูองค์ประกอบโดยรวมว่าเป็นอย่างไร บางชิ้นดีไซน์มาดีมากเลย แต่ใช้งานจริงไม่ได้ บางเจ้าไม่ผ่านก็กลับไปพัฒนา แล้วนำมาเสนอใหม่ได้

แต่ที่สำคัญต้องไม่ใช่ของก๊อปปี้ ของผิดกฎหมาย รวมไปถึงของที่มันล่อแหลมต่อวัฒนธรรม เราก็ไม่ให้ผ่าน ถึงมันจะดีไซน์เด่นขนาดไหนก็ตาม

เราโตด้วยกันมากับซัพพลายเออร์ คุณเป็นใครเข้ามา เราก็รับ เพียงแต่ว่า คอนเซ็ปต์สินค้าคุณต้องใช่ การฝากขายของในห้าง ถ้าห้างมานั่งคิดแต่จะขายให้ได้ แต่ซัพพลายเออร์อยู่ไม่ได้ มันก็ไม่ได้เหมือนกัน การปฏิเสธคน ที่เรามองแล้วว่าสินค้าเขาไม่เข้ากับเรา ถือเป็นการไม่เสียเวลาด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ต้องแฟร์กัน

ถ้ายอดขายตก ก็ต้องคุยกันแล้ว แต่ไม่ถึงกับแจกเกรดคนไหนสอบตกไล่ออก มันก็ไม่ใช่ แต่จะคุยกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น การทำรีเทลมันมีองค์ประกอบเยอะ เปลี่ยนดิสเพลย์ไหม เปลี่ยนแพคเกจจิ้งไหม หน้าตาของบางอย่างมันคลิกจุดเดียวก็ทำให้ลูกค้าไม่ซื้อเหมือนกัน

แต่ถ้ามันไม่ดีจริงๆ ถึงเวลาก็ต้องโละตรงนี้ทิ้ง แต่ตรงนั้นโอกาสที่จะเกิดขึ้นมันก็น้อย”

สุวิภา มองว่า ถึงปี 2552 เศรษฐกิจไม่ดี แต่สินค้าดีไซน์จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม และค่อนข้างชัดเจน

“ทิศทางของสินค้าดีไซน์ ต่อไปฟังค์ชั่นจะมากขึ้น และต้องใช้งานได้จริง ดีไซน์สวยเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ในขณะเดียวกันก็ต้องไปกันได้กับราคาที่เหมาะสมด้วย

อีกเรื่องที่อยากจะฝากถึงนักออกแบบหน้าใหม่ๆ ก็คือ มองหาแรงบันดาลใจได้ แต่อย่าไปเลียนแบบใคร ทุกอย่างคือการเรียนรู้ ไม่อย่างนั้นมันจะไม่เกิดความภูมิใจ พูดได้เต็มปากหรือเปล่าว่าเป็นผลงานของเรา

บางครั้งก็เข้าใจว่า อาจจะเกิดความไม่มั่นใจ ในการโชว์ไอเดีย ในการทำสินค้า เลยอยากจะหาแม่แบบ แต่ปัจจุบันนี้ตลาดมันเปิดกว้างแล้ว คุณต้องกล้าเสี่ยงแล้ว จะคิดแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้วค่ะ”

และเมื่อไม่นานมานี้ LOFT สวนกระแสเศรษฐกิจ เปิดตัวสาขา 2 ที่จามจุรีสแควร์ ตอกย้ำแนวคิดของผู้บริหารที่ว่า สินค้าไอเดียไม่มีวันตายอย่างแน่นอน

ทั้งหมดนี้ คือความเป็น LOFT ที่ต้องทำความเข้าใจ ในฐานะที่เป็นโอกาสก้าวแรก สำหรับใครก็ตามที่ต้องการขายสินค้าไอเดีย

..................................................................................

***ข้อมูลจาก นิตยสาร SMEs Today ฉบับ 75 เดือนมกราคม 2552 ***
กำลังโหลดความคิดเห็น