xs
xsm
sm
md
lg

เตือนผปก.ระวัง สารบีพีเอในขวดพลาสติก หลังแคนาดาคุ้มเข้มการนำเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

    ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร
“สถาบันอาหาร” เตือนผู้ส่งออก ผู้ประกอบการอาหารและบรรจุภัณฑ์ของไทย เร่งปรับตัวก่อนได้รับผลกระทบจากการถูกกักกัน ทำลาย และห้ามจำหน่ายสินค้าไทยในตลาดแคนาดา หลังแคนาดาออกมาตรการเข้มคุมสารอันตรายบีพีเอในภาชนะพลาสติก จี้หน่วยงานภาครัฐไทยเร่งศึกษาเกี่ยวกับสารบีพีเอ ป้องกันผลกระทบต่อผู้บริโภคและตลาดส่งออกไทยในระยะยาว

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ประเทศแคนาดากำหนดระเบียบจำกัดการใช้สารบีพีเอ ให้เป็นสารอันตราย โดยได้เร่งดำเนินการ ร่างระเบียบห้ามการนำเข้า การขาย การโฆษณาขวดสำหรับทารกที่ผลิตจากพลาสติกชนิดโพลีคาร์บอเนต ซึ่งมีสารบีพีเอ เป็นองค์ประกอบ และดำเนินการจำกัดปริมาณการปลดปล่อยสารบีพีเอลงสู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีข้อมูลว่าสารบีพีเอจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน การพัฒนาหรือขีดความสามารถในการสืบพันธุ์

โดยคาดว่าระเบียบข้างต้นจะมีผลบังคับใช้ในปี 2553 นอกจากนั้นรัฐบาลแคนาดายังประกาศจัดสรรงบประมาณกว่า 1.7 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือ 1.07 ล้านยูโรในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า สำหรับดำเนินโครงการวิจัยเกี่ยวกับสารบีพีเอ เพื่อนำข้อมูลมาใช้สนับสนุนการตัดสินใจการออกมาตรการในอนาคต ขณะเดียวกันกลุ่มปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งแคนาดายังออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการห้ามใช้สารบีพีเอ อย่างสมบูรณ์อีกด้วย

ผอ.สถาบันอาหาร กล่าวด้วยว่า “แม้ว่าแคนาดาเป็นประเทศแรกที่ทำการทบทวนและกำหนดระเบียบการจำกัดการใช้สารบีพีเอ ในขณะที่ประเทศอื่นมองว่ายังไม่จำเป็นต้องจำกัดการใช้สารบีพีเอ อาทิ สหรัฐอเมริกา อียู ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการของไทยที่ผลิตสินค้าที่ต้องบรรจุในภาชนะพลาสติกหรือภาชนะกระป๋องที่ส่งออกไปยังประเทศแคนาดา ควรเพิ่มความระมัดระวังไม่ให้มีสารบีพีเอปนเปื้อนมากับสินค้าส่งออก เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาถูกกักกัน ทำลายและห้ามจำหน่ายสินค้าของไทยในตลาดแคนาดา ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในแคนาดาได้

ในขณะที่ผู้ผลิตสินค้าพลาสติก ภาชนะพลาสติก และผู้ผลิตกระป๋องที่ใช้อีพ็อกซีในการเคลือบผิวควรเร่งปรับกระบวนการผลิต โดยระมัดระวังการใช้สารบีพีเอเป็นวัตถุดิบ และควรลดปริมาณการใช้หรือใช้ส่วนผสมที่ปราศจากสารบีพีเอ โดยหันไปใช้วัตถุดิบอื่นที่อยู่ในรายการ Positive list ตามที่กฎหมายของแคนาดากำหนดเพื่อป้องกันปัญหาการปนเปื้อนลงสู่อาหารในอนาคต

แม้ว่าปัจจุบันแคนาดาจะเป็นเพียงประเทศเดียวที่ออกมากำหนดมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับ สารบีพีเอทั้งการใช้และการปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม แต่หน่วยงานภาครัฐไทยไม่ควรเพิกเฉยต่อความเคลื่อนไหวนี้ ควรเร่งพิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อศึกษาและประเมินว่าสารบีพีเอ มีความเสี่ยงต่อเด็กแรกเกิด เด็กทารกและผู้บริโภคในประเทศไทยหรือไม่ แล้วทำการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มเสี่ยง ผู้ประกอบการอาหารและบรรจุภัณฑ์ของไทย ฉะนั้นจึงเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันประชากรรุ่นใหม่ของไทยจากอันตรายที่ไม่ควรจะต้องได้รับ และป้องกันปัญหาถูกกักกัน ทำลายและห้ามจำหน่ายสินค้าไทยในตลาดแคนาดา
กำลังโหลดความคิดเห็น