xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกลยุทธ์ฝ่าทางตันพิษวัวบ้า บทพิสูจน์แกร่งเอสเอ็มอีไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่คาดว่าจะรุนแรงอย่างยิ่งในปีนี้ (2552) ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด และได้รับผลก่อนเป็นอันดับแรก คือ ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งด้านศักยภาพการแข่งขัน สายป่วนธุรกิจสั้น รวมถึง โอกาสเข้าถึงแหล่งทุนเป็นเรื่องยาก

อย่างไรก็ดี เชื่อกันว่า ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ ดังนั้น หนทางที่เอสเอ็มอีจะประคองตัวให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ จำเป็นต้องแกร่งทั้งตัวเอง และต้องอาศัยปัจจัยภายนอกช่วยเหลือด้วย โดยกูรูทางเศรษฐกิจ ชี้ไปที่การพัฒนาศักยภาพตัวเองให้แกร่งพร้อมรับสถานการณ์ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประสานพลังช่วยเหลืออย่างจริงจัง
ผศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์
แนะกำจัดจุดอ่อนเสริมจุดแข็ง

ผศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศรินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เอสเอ็มอีต้องหันมามองที่ตัวเอง เพื่อลดจุดด้อยและเสริมความแข็งแรงให้ธุรกิจ ซึ่งแนวทางจะช่วยธุรกิจประสบความสำเร็จ เดิมจะยึดหลัก 4 P คือ Product Price Place และPromotion แต่ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเช่นนี้ ต้องเพิ่มอีก 4P ได้แก่

People หมายถึง บริหารพนักงาน หรือบุคลากรในองค์กรให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน มีจิตใจพร้อมทุ่มเทในการทำงานอย่างเต็มที Process หมายถึง กระบวนการผลิตหรือบริการที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน Production หมายถึง การผลิต และตรวจสอบที่แม่นยำ เนื่องจากภาวะเช่นนี้ ลูกค้าไม่สามารถรับความเสี่ยงได้เลย และ Physical Evidence คือ มีความเป็นมืออาชีพในการให้บริการ

นอกจากนั้น ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง จำเป็นต้องสร้างจุดเด่น และแตกต่างจากคู่แข่ง ด้วยกลยุทธ์ 10 S’s ได้แก่

Smooth หมายถึง อารมณ์ของผู้บริการ ต้องมองโลกในแง่บวก สร้างความมั่นใจให้ตัวเอง พนักงาน และลูกค้า Speak มีทักษะการสนทนาที่ดีกับลูกค้า Smart ผู้ให้บริการที่มีบุคลิกภาพที่ดีสง่างามจะสามารถสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า Smile มีรอยยิ้มและบริการด้วยความแจ่มใส Small ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใดต้องอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ

Special ต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกตัวเองเป็นคนพิเศษ Spirit มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทั้งกับลูกค้า และลูกน้อง Speed ทำงานหรือให้บริการอย่างรวดเร็วทันใจ Super การให้บริการที่ไม่ธรรมดา ซึ่งลูกค้าไม่เคยสัมผัสมาก่อน หรือเหนือความคาดหมาย จะทำให้ลูกค้าประทับใจ และบอกต่อ และ Save ต้องสร้างให้ลูกค้ารู้สึกปลอดภัย และรู้สึกประหยัดกว่าไปใช้บริการ หรือซื้อสินค้าของคู่แข่ง
ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร
ชี้กล้าลงทุน IT เพิ่มประสิทธิภาพ

ด้าน ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร ประธานชมรมคนออมเงิน ระบุว่า ควรกล้าลงทุนกับการใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการทำงาน ทั้งด้านซอฟท์แวร์ควบคุมสต๊อคสินค้า ประวัติลูกค้า การเก็บเงิน ด้านข้อมูลและวิธีปฏิบัติงาน อีกทั้ง ต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างแบรนด์ ซึ่งจะช่วยสร้างการจดจำ ความน่าเชื่อถือให้ลูกค้า รวมถึง เพิ่มมูลค่าให้สินค้าหรือบริการ ซึ่งการสร้างแบรนด์ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง

ทั้งนี้ ในวิกฤตต้องมีบุคลากรที่เข้มแข็ง ทั้งในส่วนของผู้นำองค์กรเอง ต้องมีทักษะ และวิสัยทัศน์ก้าวไกล ขณะเดียวต้องมีทีมงานที่ดี โดยเพิ่มพูนโดยการฝึกฝนพนักงาน ให้สวัสดิการพอเพียง และกระจายงานอย่างถูกต้อง

นอกจากนั้น ต้องมีแผนการตลาดที่เหมาะสมและหลากหลาย และที่สำคัญ ต้องมีวินัยในการใช้เงิน โดยจัดระบบบริหารถ้วนถี่ ไม่ปล่อยให้เงินหลุดรอดจากระบบตรวจสอบ และไม่นำเงินไปใช้ผิดประเภท

จี้ทุกฝ่ายประสานพลังอุ้มเอสเอ็มอี

นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ นักวิชาการ และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ปัญหาที่เกิดกับเอสเอ็มอีนั้น เป็นปัญหาที่หนักหน่วงและส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ดังนั้น ทุกภาคส่วนเศรษฐกิจต้องหันมาร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ และเอกชน

กลุ่มแรกคือ ผู้ประกอบการรายใหญ่ น่าจะมีบทบาทช่วยประคับประคองเอสเอ็มอีมากกว่าเดิม โดยเฉพาะธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ในซัพพลายเชน

ทั้งนี้ บริษัทขนาดใหญ่ไม่ควรขยายเวลาชำระหนี้แก่เอสเอ็มอีเกินความเหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้มีเงินทุนไปหมุนเวียนธุรกิจ อีกทั้ง หลีกเลี่ยงการกดราคารับซื้อจากเอสเอ็มอี นอกจากนั้น ต้องไม่ลดออเดอร์ เกินความจำเป็น โดยสต๊อกสินค้าเท่าเดิม หรือลดลงบ้างเท่าที่รายย่อยพอดำเนินกิจการต่อไปได้ อีกทั้ง พยายามหาตลาดช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้วย

“กลุ่มแรกที่ผมอยากจะขอให้ช่วย คือ บริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมา หากมีปัญหาการเงิน จะใช้วิธีขยายเวลาชำระเงินค่าสินค้าแก่รายย่อย ภาระการเงินในการดำรงสภาพคล่องของรายใหญ่ จึงตกไปสู่รายเล็ก ซึ่งฐานะการเงินอ่อนแอกว่า แถมยังต้องรับภาระดอกเบี้ยสูงกว่าด้วย เป็นการเอาตัวรอด โดยไม่คำนึงว่า ที่ผ่านมาได้ประโยชน์จากผู้ผลิตรายย่อยเหล่านี้มาแล้วเท่าใด” นายสมชาย ระบุ
สมชาย สกุลสุรรัตน์
กลุ่มต่อมา คือ สถาบันการเงินทั้งของรัฐ และเอกชน อยากให้ลดหย่อนเงื่อนไข หรือยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี เพราะถ้าจะใช้หลักเกณฑ์ในภาวะปกติแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เอสเอ็มอีจะเข้าถึงแหล่งทุน

ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 รัฐบาลนำภาษีของประชาชน 1.5 ล้านล้านบาท ช่วยเหลือสถาบันการเงิน โดยรัฐบาลต้องนำงบประมาณชดเชยภาระดอกเบี้ย 50,000-60,000 ล้านบาท/ปี เพื่อให้สถาบันการเงินอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น ในเวลานี้ที่ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีมีปัญหา สถาบันการเงินก็ต้องมีบทบาทช่วยเหลือไม่ใช่ปล่อยให้ภาคธุรกิจแก้ปัญหาเองตามลำพัง” นายสมชาย กล่าว

ส่วนภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมและช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งทางตรงและทางอ้อม สามารถเข้าไปช่วยได้ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายบางตัวที่รัฐพอจะทำได้ เช่น ค่าใบอนุญาต ค่าธรรมเนียม ฯลฯ

นอกจากนั้น หน่วงานราชการ และเอกชนที่ทำหน้าที่คุมกฎ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมนักบัญชี ฯลฯ ควรทบทวนกฎกติกามารยาทที่เข้มงวดว่า มีผลกระทบต่อธุรกิจรายย่อยมากน้อยเพียงใด และสามารถยืดหยุ่นได้หรือไม่ เพราะระเบียบที่เข้มงวด นอกจากสร้างปัญหาด้านปฏิบัติแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของผู้ประกอบการรายเล็ก นอกจากนั้น ยังไม่ได้ช่วยป้องกันคนโกงได้ แต่กลับเปิดโอกาสให้คนฉลาดแกมโกงหาประโยชน์โดยมิชอบง่ายขึ้น

“ผมอยากให้คิดว่า ถ้าไม่สามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ จะก่อความเสียหายต่อประเทศอย่างรุนแรงมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการปิดกิจการ คนตกงานนับล้านคน บัณฑิตจบใหม่ไม่มีงานทำ รวมถึง รายได้รัฐบาลลดลง และเกิดปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงิน” นายสมชาย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น